มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ชวนเที่ยวงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 7” เทศกาลถนนคนเดินชนเผ่า สนุก ปลอดภัย ท่ามกลางอากาศหนาว

กลับมาอีกครั้งกับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เมื่อ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนเที่ยวเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 7 ท่ามกลางอากาศหนาวสดชื่นกลางขุนเขา และการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวดอยตุง ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 เวลา 08.00 – 18.00 น. ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนได้พัฒนาศักยภาพ และเรียนรู้กระบวนการในการเป็นเจ้าของธุรกิจชุมชน สามารถพึ่งตัวเองได้ ตลอดจนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี 6 ชนเผ่าในชุมชน ได้แก่ อาข่า ลาหู่  ไทใหญ่ ไทลื้อ  ไทลัวะ และจีนยูนนาน ผ่านกิจกรรมร้านค้าชนเผ่า โดยได้จัดพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่น ปลอดภัย โดยมีแขกผู้มีเกียรติร่วมงานมากมาย อาทิ ภาษเดช  หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, จันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์  ประธานกรรมการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และที่ปรึกษา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ กรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), นายแพทย์วันชัย ล้อกาญจนรัตน์  รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย, เทียมจันทร์ พันธุ์เจริญ รองผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง, กรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย, และพันเอกสมเจตตะณ์ ภักดีบรรณดิษฐ์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ร่วมงาน เป็นต้น เมื่อวันก่อน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า “จากสถานการณ์ที่ไม่ปกติอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เห็นว่าการจัดงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งนี้ยิ่งมีความสำคัญกว่าเดิม เนื่องจากเป็นการมอบความสุขและกำลังใจให้คนไทย รวมถึงจะช่วยกระตุ้นธุรกิจภายในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง รวมทั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ในฤดูท่องเที่ยวให้ชุมชนดอยตุงด้วย โดยเฉพาะถ้าสถานการณ์น่าไว้วางใจและสามารถเดินทางภายในประเทศได้อย่างปลอดภัย คนไทยก็จะช่วยสนับสนุนคนไทยด้วยกัน จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 7”

งานสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 7 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “บ้านแห่งความรัก” เพราะประเทศไทยคือบ้านของเราทุกคน ส่วนดอยตุงก็เปรียบเสมือนบ้านของคนในพื้นที่และในจังหวัดเชียงรายที่เราอยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงความรัก ความเอาใจใส่ จึงมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพและประสบการณ์อันน่าประทับใจ ทั้งนี้ นอกจากความรักในสถานที่ ผู้มาเยือน และชุมชนแล้ว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมีความรักให้สิ่งแวดล้อม จึงออกแบบกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และจัดกิจกรรมการชดเชยคาร์บอนเครดิตเพื่อให้เป็นงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Event) และมีการคัดแยกทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีขยะไปสู่บ่อฝังกลบ (Zero Waste to Landfill) โดยงานในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) พร้อมด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเอสซีจี บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด

สำหรับไฮไลต์ภายในงานแบ่งเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ โซนถ่ายรูปเช็คอิน ชมความงามจากธรรมชาติ ที่พลาดไม่ได้คือ สวนแม่ฟ้าหลวง สวนดอกไม้นับร้อยสายพันธุ์ อาทิ ดอกเจอราเนียม กล้วยไม้รองเท้านารี หลายสายพันธุ์ และ กล้วยไม้พันธุ์ฟาแลนนอปซิส ที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้พัฒนาและเพาะพันธุ์เอง และจุดเช็คอินสุดฮิต ซุ้มทางเข้าใบโคลเวอร์ (Clover Leaf) แห่งความรัก สื่อถึงการต้อนรับแสนอบอุ่นที่อยากให้ทุกคนได้รับความโชคดี  และอย่าลืมแวะมาถ่ายรูปกับ โต มาสคอตสัตว์แห่งความโชคดีในตำนานของชาวไทใหญ่ พร้อมนั่งชิลฟังดนตรีและชมการแสดงชนเผ่ารอบงาน ให้ความรู้สึก สุขหัวใจเหมือนได้คืนสู่บ้านอันอบอุ่น ส่วนคนที่รักของอร่อยต้อง โซนอาหาร  ลิ้มลองเมนูชนเผ่าที่ส่งต่อกันในครอบครัว อาทิ ซุปไก่ดำของชาวลัวะ ยำข้าวฟืน เมนูเด็ดของชาวไทใหญ่ ของหวานกินอร่อยในหน้าหนาวอย่างข้าวปุ๊กปิ้งโรยน้ำตาลอ้อย หรืออร่อยไปกับเมนูชนเผ่าประยุกต์จากครัวตำหนักที่รังสรรค์พิเศษเฉพาะงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 7 เท่านั้น กับเมนู สปาเกตตีรากชูไก่ทอดมะแขว่น ยำสลัดวอเตอร์เครสไก่ฉีก บะหมี่เส้นสดซุปไก่ดำตุ๋นตำรับยูนนาน ข้าวสดชื่น  ข้าวคลุกเคล้าธัญพืช ผลิตผลในพื้นที่ดอยตุง  และ เมนูของหวานสุดฟิน ซูเฟลแมคคาเดเมีย และ  ครัมเบิลสับปะรดภูแล จากนั้นมาช็อปกันต่อที่ โซนหัตถกรรม  สินค้าแฟชั่นงานมือชาวไทยภูเขาแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ รวมถึงงานหัตถกรรมดีไซน์มีเอกลักษณ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอของร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปสุดน่ารัก อาทิ สอนปั้นเซรามิกโดยช่างปั้นดอยตุงผู้เชี่ยวชาญที่ปั้นเสร็จสามารถนำกลับไปฝากเพื่อนได้ กิจกรรมเวิร์กช็อปสร้างสรรค์โปสการ์ดจากใบไม้และดอกไม้แห้งที่ร่วงหล่นในสวนแม่ฟ้าหลวงให้กลายเป็นงานมือที่สร้างด้วยหัวใจ  ส่วนใครที่อยากเรียกเหงื่อท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของธรรมชาติต้องมาโดน โซนกิจกรรม ที่มีให้ลองเล่นทั้ง ดอยตุง ทรี ท็อป วอล์ค (DoiTung Tree Top Walk) สะพานเรือนยอดไม้ดอยตุงความสูงจากพื้นดินกว่า 30 เมตร หรือการละเล่นท้องถิ่นอย่าง ฟอร์มูล่าดอย ไม้ต่อขา  ก็เพลินไปอีกแบบ

สำหรับใครที่หลงใหลอากาศหนาวเย็น หมอก และดอกไม้หายาก ต้องนั่งรถขึ้นไปเที่ยวต่อ ที่ สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงดอยช้างมูบ จุดสูงสุดของดอยตุงและแนวเทือกเขาดอยนางนอน ที่มีวิวพาโรนามาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม เป็นเทือกเขาที่กั้นชายแดนไทย-พม่า จุดกำหนิดต้นกุหลาบพันปีคำแดง และกุหลาบพันปีหลายสายพันธุ์ พร้อมกิจกรรมพิเศษ อาทิ มัคคุเทศก์น้อยดอยตุง มุมถ่ายภาพฮิตดอยแตก ใฝ่ดีคาเฟ่ จิบกาแฟกลางสวนดอกไม้ ฝีมือบาริสต้ารุ่นเยาว์ เวิร์กช็อปกับธรรมชาติ และบริการเช่าชุดชนเผ่าสวยๆ  ซึ่งเฉพาะงานนี้มีบริการรถรับส่งขึ้นไปดอยช้างมูบฟรีทุกชั่วโมงด้วย

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการยกระดับ มาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรค COVID19 เชิงรุก ด้วยการดูแลสุขอนามัยขั้นสูงสุด เพิ่มเติมจากมาตรการปกติที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ให้บริการ รวมถึงจุดที่มีการสัมผัสบ่อยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 3 ชั่วโมง การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกสถานที่ท่องเที่ยวเป็นประจำทุกเย็น การฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV ในทุกพื้นที่ปิดเป็นประจำทุกเย็น และกำหนดจุดใช้บริการแบบเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด

มาร่วมสนุก ให้สุขหัวใจในวิถีชนเผ่าของงานสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 7 พร้อมติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 7 ได้ที่ www.facebook.com/DoiTungClub, โทร. 02-252-7114 หรือ 053-767-015-7

“คิดถึง…สมเด็จย่า” ครั้งที่ 23 “ในความคิด…คำนึง” น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมเรียนรู้ตามรอย “สมเด็จย่า” ในโอกาสครบรอบ 120 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ และ 25 ปีวันคล้ายวันสวรรคต

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี  บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอเชิญร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ในนิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า” ครั้งที่ 23 ภายใต้ชื่องาน “In Her Thoughts” หรือ “ในความคิด…คำนึง”

ระหว่าง วันที่ 21-25 ตุลาคม 2563 ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิดงาน ในวันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น.

ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า “นิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2539 และได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย โดยทรงเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตในทุกๆ ด้าน ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการอย่างต่อเนื่องยาวนาน และสำหรับในปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 23 นับเป็นวาระพิเศษครบรอบ 120 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ 10 รอบปีชวดนักษัตร และ 25 ปี วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จย่า นิทรรศการในปีนี้จึงจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “In Her Thoughts” หรือ “ในความคิด…คำนึง”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติและย้อนรำลึกถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระจริยวัตร ที่ได้ทรงเรียนรู้ทั้งจากบุคคลที่ทรงใกล้ชิด สังคมที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพ รวมทั้งอิทธิพลจากนักคิด นักปรัชญา และตำราวิชาการต่างๆ ที่มีส่วนหล่อหลอมจนกลายเป็นทักษะชีวิต ทักษะทางอารมณ์และสังคม มาตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งไฮไลท์ภายในงานได้มีการจำลองสมุดเลคเชอร์ลายพระหัตถ์ภาษาฝรั่งเศสของสมเด็จย่ามาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมเป็นครั้งแรกด้วย”

นิทรรศการครั้งนี้นำเสนอในรูปแบบเส้นเวลา (Timeline) นับตั้งแต่ปีแรกที่ประสูติ จนกระทั่งสวรรคต และพระราชปณิธานที่มีผู้สานต่อผ่านมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2443-2460 ชีวิตในวัยเยาว์ เรียนรู้ เติบโตในชุมชนเล็กๆ ใกล้วัดอนงคาราม ได้เป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) กระทั่งได้ร่ำเรียนในฐานะนักเรียนพยาบาล โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช และมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาวิชาพยาบาล ไปศึกษาต่อณ สหรัฐอเมริกา

ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2460-2466 ชีวิตของการเป็นนักเรียนทุนในต่างประเทศทำให้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ตลอดทั้งเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ ศิลปวัฒนธรรม และฝึกทักษะด้านภาษา และจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตนักเรียนทุนพยาบาล ณ สหรัฐอเมริกา คือการได้พบและอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และสร้าง “ครอบครัวมหิดล”

ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2467-2475 ชีวิตครอบครัวเริ่มได้ไม่นาน ก็ประสบกับความสูญเสีย สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์ นับจากนั้น แม้การอภิบาลพระโอรสธิดาจะดำเนินไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประเทศ แต่เจ้านายเล็กๆ ก็เติบโตอย่างมีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ ณ วังสระปทุม

ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2476-2514 ช่วงเวลาที่ได้ปฏิบัติพระราชภารกิจยิ่งใหญ่ในการถวายพระอภิบาลและอบรมพระโอรสธิดา และทุกพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อต่างประเทศ นอกจากนั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงใช้เวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งวิชาปรัชญา ภาษาสันสกฤต และบาลี อย่างจริงจัง ซึ่งนำเสนอผ่านสมุดเลคเชอร์ลายพระหัตถ์ และตำราวิชาต่างๆ ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระราชหฤทัย

ช่วงที่ 5 พ.ศ. 2515-2538 นอกจากพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติด้วยความเมตตากรุณา ส่งไปถึงอาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่าแล้ว ในยามที่ทรงว่างหรือภายหลังการทรงงาน ก็จะทรงพักพระอิริยาบถทรงงานอดิเรกที่โปรด ด้วยทรงตระหนักว่า “เวลาเป็นของมีค่า” ทั้งเรื่องงานปั้น งานปักผ้า งานดอกไม้แห้ง งานวาดรูปบนเครื่องกระเบื้องเซรามิก และความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ โปรดให้ตกแต่งเพดานพระตำหนักดอยตุง เป็นภาพสุริยจักรวาล กลุ่มดาวจักรราศี และกลุ่มดาวฤกษ์สำคัญ ซึ่งจำลองมาให้ชมภายในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย  ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เมื่อเสด็จสวรรคต ทรงเป็น “สมเด็จย่า” ที่ชาวไทยเคารพ เทิดทูน ผูกพันมาจนตราบทุกวันนี้

ช่วงที่ 6 พ.ศ. 2539 – ปัจจุบัน พระราชปณิธานยังคงได้รับการสืบสานผ่านหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และโครงการพัฒนาดอยตุงฯ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน

พบกับนิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า” ครั้งที่ 23 ภายใต้หัวข้อ “In Her Thoughts” หรือ “ในความคิด…คำนึง” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พร้อมกับการเรียนรู้ตามรอย ‘สมเด็จย่า’ จากพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระจริยวัตรอันงดงามตลอดพระชนม์ชีพ นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังจัดจำหน่ายสินค้าจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  Doi Tung Café และผลิตภัณฑ์จาก Doi Tung Lifestyle รวมถึงจำหน่ายไม้ดอก ไม้ประดับนานาพันธุ์ ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2563 ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 02-610-8000 หรือ Facebook : SiamParagon

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คว้า 4 รางวัลงานดีไซน์สร้างสรรค์ระดับประเทศ “DEmark 2020” จากกระทรวงพาณิชย์

ชูแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิตสินค้าแฟชั่น และผสานแรงบันดาลใจจากวิถีชนเผ่า โดย 4 ผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เสื้อโค้ทม้ง ผลิตจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล ย่ามชนเผ่า ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเยื่อไผ่ เซรามิกเผาโดยใช้เศษหญ้าแฝกและเปลือกแมคคาเดเมียเป็นเชื้อเพลิง และบรรจุภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รีทำจากเยื่อกระดาษสา มุ่งเน้นนำเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างประโยชน์เพื่อลดของเสียจากกระบวนการผลิตให้กลายเป็นศูนย์

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำทีมดีไซเนอร์รับรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีปี 2563 หรือ Design Excellence Award 2020 (DEmark) จัดโดย สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP เพื่อส่งเสริมและยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ณ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท24 เมื่อวันอังคารที่ 8 กันยายน 2563

#มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง #DEMARK2020 #circulardesign #sustainabledesign #zerowastedesign

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คว้ารางวัล “Best Design” สินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม จากเวที PM Award 2020

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ปี 2563 (Prime Minister’s Export Award : PM Award 2020) ให้กับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล ประเภทสินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) จากผลงาน “เสื้อโค้ทม้ง” โดยใช้เส้นใยจากการรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเลมาเป็นวัสดุหลักในการออกเเบบผ้าทอมือ  จัดขึ้นโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริม และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันก่อน

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รางวัลสินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) กลุ่มสินค้าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชันเครื่องแต่งกาย เป็นผลิตภัณฑ์จากดอยตุง (DoiTung) ในผลงานที่มีชื่อว่า “เสื้อโค้ทม้ง” HMONG: Coat [100% Upcycling plastic] Handwoven Textile ซึ่งเเรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากสภาพภูมิอากาศบนดอยตุงที่มีความหนาวเย็นและฝนตกชุก โดยนำกลิ่นอายของเครื่องแต่งกายชนเผ่าม้ง มาประยุกต์กับวัสดุที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมเเละสิ่งเเวดล้อม ซึ่งเสื้อโค้ทหนึ่งตัวทำมาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกขนาด 600 มิลลิลิตร 130 ใบ สู่ผลิตภัณฑ์เสื้อโค้ทที่สวมใส่ได้ 2 ด้าน 2 สไตล์ มีคุณสมบัติกันหนาว สะท้อนหยดน้ำและระบายอากาศได้อย่างดี เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์ สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

“ดอยตุง” รับ G Green รางวัลแห่งความภูมิใจ สร้างคนอยู่กับป่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน

“ดอยตุง” ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการผลิตสินค้าหัตถกรรมจากชุมชน แต่ยังใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งงานผ้าฝ้ายทอมือผสมผสานด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเซรามิกที่รังสรรค์ก้อนดินให้กลายเป็นเครื่องใช้สุดประณีต กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เลือกและพิจารณามอบโล่รางวัลสัญลักษณ์ G Green Production ประเภทเซรามิก ระดับดีเยี่ยม และประเภทสิ่งทอ ระดับดีเยี่ยม เพื่อรับรองว่าดอยตุงมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จากการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานสร้างโอกาส พัฒนาชาวไทยภูเขาที่ขาดต้นทุนชีวิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพด้วยการพัฒนาป่าและคน โดยมีโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) ตามพระราชดำริ เป็นต้นแบบภายใต้แบรนด์ “ดอยตุง” ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามตำราแม่ฟ้าหลวง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตามแนวคิดคนอยู่กับป่าอย่างเป็นมิตร

โดยการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แทรกอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิตนี้ เป็นที่มาของรางวัล G Green Production เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงงานทอผ้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ดอยตุง ที่ใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบที่เลือกใช้ในงานทอเป็นเส้นใยฝ้ายประหยัดน้ำหรือ Better Cotton ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าในการเพาะปลูก และเส้นใยเหล่านี้ถูกนำมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น คราม ดอกทองกวาว หัวหอม กาแฟ หรือฮ่อม และยังให้สีที่แตกต่างกันตามแต่ละฤดูกาล เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ก่อนจะถูกถักทอเป็นผ้าบนกี่แบบดั้งเดิมด้วยฝีมือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนตัดเย็บหากเหลือเศษผ้าจะถูกนำมาแปรรูปใส่ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นของใช้ชิ้นเล็กอย่างพวงกุญแจหรือใช้ประดับตกแต่งลวดลายสินค้าต่อไป แต่ถ้าเศษผ้าเล็กเกินกว่าจะใช้ได้ เศษผ้าและเศษด้ายจะถูกนำไปเผาพร้อมกับกะลาแมคคาเดเมียเพื่อใช้เป็นพลังงานในการต้มน้ำร้อนสำหรับกระบวนการต้ม ฟอก และย้อมผ้าอีกครั้ง ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้ประมาณร้อยละ 50 ส่วนน้ำเสียจากโรงย้อมผ้าก็จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้แนวคิด “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ให้พืชน้ำดูดซับสารพิษและเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ น้ำที่บำบัดแล้วก็ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ต่อไป จึงไม่มีของเหลือใช้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนี้เลย ด้านการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งสินค้าให้ผู้บริโภค จะถูกใส่ลงในถุงซิปล๊อค ห่อกระดาษและถุงกระดาษ ถือเป็นการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ส่วนถุงซิปล๊อคที่ใช้งานแล้วก็จะถูกส่งกลับมายังโรงทอเวียนกลับมาใช้งานอีกครั้ง

หรือแม้แต่กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับโรงงานเซรามิก ก็มีความใส่ใจในทุกขั้นตอนเช่นกัน ตั้งแต่การเลือกดินหลากชนิดมาผสมกัน ปั้นหรือเทลงแบบพิมพ์กลายเป็นภาชนะต่างๆ การอบแห้งและเผาพร้อมชุบเคลือบด้วยหินแร่ เพื่อให้เกิดสีที่แตกต่างกันออกไปเวลาที่เผาในอุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส และถึงแม้เซรามิกจะไม่สามารถรีไซเคิลได้แบบวัสดุอื่นๆ ทางดอยตุงได้หาวิธีนำชิ้นส่วนเหล่านี้ไปบดเป็นผง ผสมดินในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อขึ้นรูปใหม่หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำพื้นถนนเพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรอื่นๆ สำหรับแม่พิมพ์ของสินค้าเซรามิกที่ต้องอบแห้งก่อนการขึ้นรูป ดอยตุงเลือกใช้พลังงานชีวมวลจากเปลือกแมคคาเดเมียมาทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม โดยใช้เปลือกแมคคาเดเมียมาต้มน้ำร้อน และส่งความร้อนต่อไปที่อากาศแทน นอกจากนี้ยังมีการเผาอากาศด้วยก๊าซหุงต้มแบบเดิม จากการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน วิธีนี้ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้เกือบทั้งหมด ซึ่งการช่วยกันคิดค้นหาทางออกใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงไอเดียของผู้บริหารและนักออกแบบเท่านั้น แต่การคิดค้นในหลายๆ ครั้งยังเกิดจากชาวบ้านที่ปฏิบัติงานและเล็งเห็นปัญหาด้วย

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมมาพร้อมกับขั้นตอนมากมายที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และแบรนด์ดอยตุง จึงกำลังพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของความไม่สะดวกสบายทั้งหลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านแฮชแท็ก #InconvenientIsneccessary  ..ติดตามอัปเดตเรื่องราวงานพัฒนาคนและธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ที่ www.maefahluang.org 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : Tel : 02-252-7114 # 332

  • จริญญา อัครภาณุวิทยา (จอย)    โทร. 081-822-9596        E-mail : jarinya@doitung.org
  • ศิริพร ทวีธนวาณิชย์ (ก้อย)        โทร. 086-375-5852        E-mail : siriporn@doitung.org

ครบรอบ 25 ปี วันสวรรคต “สมเด็จย่า” มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัดพิธีถวายขันดอก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “แม่ฟ้าหลวง”

เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปี แห่งการสวรรคตของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ในปี 2563 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัดพิธีบำเพ็ญกุศลและพิธีถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นการถวายความเคารพอย่างสูงสุดตามประเพณีล้านนาเชียงราย โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนชาวไทย ร่วมกันถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จย่า โดยมีการจัดเตรียมมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมาตรฐานของภาครัฐอย่างเข้มงวด ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563

ภายในงานเริ่มด้วยพิธีบำเพ็ญกุศลน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศาลาแก้ว ภายในอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จากนั้นคณะกรรมการและผู้บริหารมูลนิธิฯ นำโดย ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม, หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล และ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำข้าราชการและประชาชน พร้อมใจกันจัดขบวนตุงและขันดอกอันเป็นพุ่มดอกไม้เครื่องสักการะแบบล้านนา ไปร่วมกันถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงสมเด็จย่า ณ ลานหน้าพระรูปปั้นสำริดของพระองค์

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า แม้ว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า จะเสด็จสวรรคตนานกว่า 25 ปีแล้วก็ตาม พระราชดำรัสของพระองค์ยังคงเป็นความจริงที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตทุกยุคสมัย โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องปรับตัวและหันมาใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อดำเนินชีวิตในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตมนุษย์ทั่วโลกแบบไม่มีใครได้ทันตั้งตัว ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวแบบกะทันหัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เองก็ต้องปรับตัวให้ตอบรับต่อความปกติใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากว่าเจอพายุอีกครั้ง แม้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะปรับแนวทางการดำเนินงานขององค์กรให้สอดรับกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากขึ้น แต่ยังคงยึดแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของสมเด็จย่าเป็นเข็มทิศในการทำงานพัฒนาและธุรกิจเพื่อสังคมเช่นเดิม

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา นอกจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่างๆ ในหลายพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว เรายังทำหน้าที่เผยแพร่คำสอนของสมเด็จย่าเพื่อเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

โดยในปี 2563 นี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตครบ 25 ปี คนไทยรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปีอาจจะจดจำเรื่องราวของพระองค์ได้ไม่มากนัก หรือไม่ทันได้ชื่นชมพระบารมี บางคนอาจจะเคยได้ยิน ได้ฟังพระราชดำรัสและพระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายของสมเด็จย่ามาบ้าง ซึ่งทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนหลักของ “ความจริง” ที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์และร่วมสมัย อย่างเช่นพระราชดำรัสที่สมเด็จย่าทรงเคยรับสั่งไว้และสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเป็นอย่างมาก คือ

‘คนเราทุกคนต้องปรับตัว ถ้าปรับก็ไม่มีเรื่อง ฉันเองก็ต้องปรับตัว’

เป็นอีกหนึ่งคำสอนสำคัญที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตในขณะนี้ได้”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) และทรงเป็นสมเด็จพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงงานอย่างทุ่มเทเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล พระองค์ทรงตระหนักดีถึงความยากลำบาก การขาดโอกาสในชีวิต รวมถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจึงมีบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้าไปร่วมตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยด้วย และทรงนำเครื่องนุ่งห่ม อาหาร สิ่งของที่จำเป็น และของเล่นสำหรับเด็กเข้าไปพระราชทานให้แก่คนในพื้นที่ ในสายตาของชาวไทยภูเขา พระองค์เปรียบเสมือนเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยาก เขาเหล่านั้นจึงถวายพระสมัญญา “แม่ฟ้าหลวง” สะท้อนถึงความเคารพรักบูชาจากหัวใจชาวไทยภูเขาทุกคน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงงานอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ยากไร้และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จวบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 พระชนมายุ 95 พรรษา

สานต่อพระราชปณิธาน “สมเด็จย่า” ม่วนขนาด เปิด “กาดศิลป์” Art and Craft Market ตลาดนัดติดดิน อนุรักษ์งานศิลป์ สไตล์ล้านนา – ร่วมสมัย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกคน” ของสมเด็จย่า เปิด อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ชวนคนรักงานศิลป์เสพกลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนาและศิลปะหลากแขนง จัดงานเปิด “กาดศิลป์” Art and Craft Market ตลาดนัดสินค้าหัตถกรรมและกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะครั้งแรกโดยมีคนในชุมชนสถาบันการศึกษา และชาวดอยตุง มาปล่อยฝีมือโชว์งานศิลปะ งานคราฟต์ทำมือ และอาหารหลากเมนู เพื่อรักษามรดกด้านศิลปวัฒนธรรม และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ โดยจัดขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 7 – วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16:00 – 21:00 น. ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย   

โดยภายในงาน คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา  กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ  ท่ามกลางศิลปินชื่อดังเมืองเชียงราย อาทิ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ  ศิลปินเซรามิคดอยดินแดง  รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ อิษฏ์วรพันธ์  มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มาร่วมสัมมนาเรื่อง “ข้อคิดเห็นการสร้างสรรค์ให้เมืองเชียงรายเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริง” กระตุ้นคนรุ่นใหม่ใส่ใจ สืบสานศิลปวัฒนธรรมบ้านเกิด พร้อมทั้งให้ข้อคิดถึงคนในท้องถิ่นด้วยว่า

“สิ่งที่สมเด็จย่า ทรงทำไว้ให้ลูกหลานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของป่า คน อาชีพ และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ เราต้องช่วยกันสานต่อ ไม่ท้อถอย ถ้าเราช่วยกัน เชียงรายจะเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริงได้แน่นอน”  

นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย อาทิ คุณภาษเดช หงส์ลดารมภ์  รองผู้ราชการจังหวัดเชียงราย จุฬาสินี โรจนคุณกำจร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา และผู้บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ท่ามกลางการแสดงโชว์ตีกลองปูจา และการแสดงฟ้อนขบวนแห่ขันดอกล้านนา ตลอดจนการแสดงที่สร้างสีสันให้กาดศิลป์ จากศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียง ชาวบ้านชนเผ่าจากหมู่บ้านต่างๆ อาทิ บ้านขาแหย่งพัฒนา บ้านห้วยน้ำขุ่น บ้านจะลอ บ้านป่าซางนาเงิน และศิลปินรุ่นเล็กจากสถาบันการศึกษาในเชียงราย อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียนสถานสงเคราะห์แม่จัน อาทิ การแสดงลัวะเริงไพร การแสดงดนตรีโฟล์คซอง การแสดงหิมวันต์ รัญจวน ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง และ การสาธิตงานเวิร์คช็อปต่างๆ อาทิ ปั้นและเพ้นท์เซรามิค ถักร้อยกุญแจ จัดสวนถาด การทำกระเป๋าที่จากพลาสติก โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และ การสาธิตการทำเครื่องเงิน งานแกะสลัก ทำเครื่องสักการะล้านนา นิทรรศการภาพเขียนงานวิจิตรศิลป์ โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจากสถานศึกษาในเชียงราย พร้อมด้วยซุ้มอาหารชนเผ่าและอาหารหลากเมนูรสเด็ดลำแต้ๆ อย่าง หมาล่ารสเด็ด หมี่กรอบทรงเครื่อง..ใส่ส้มซ่ากินแล้วสดชื่นไม่เหมือนใคร น้ำอะโวคาโด้รสนุ่มละมุนลิ้น เป็นต้น

พร้อมด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งแบบล้านนาและแบบร่วมสมัยให้ชมมากมาย พร้อมนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ “สมเด็จย่า” ผู้ทรงก่อตั้งสำนักงานของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงสร้างอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงขึ้น  การจัดแสดงศิลปวัตถุและไม้แกะสลักสไตล์ล้านนาที่มีประวัติยาวนานหาชมได้ยาก ซึ่ง อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ได้รวบรวมและเก็บรักษาไว้เพื่อสืบทอดและส่งต่อวัฒนธรรมอันล้ำค่า นำมาให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามที่มีเรื่องราวน่าสนใจและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอย่างใกล้ชิด อาทิ

กลองปูจา หรือ กลองบูชา เป็นกลองโบราณที่ใช้ตีเพื่อส่งสัญญาณในการโจมตีศัตรูของกองทัพในเวลาสงครามถือเป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ ตลอดจนใช้ตีส่งสัญญาณบอกข่าวแก่ชุมชน และใช้เป็นเครื่องดนตรีมหรสพ

ตุงกระด้าง ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง ธง ในภาษาไทยภาคกลาง ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุต่างๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น ตุงกระด้าง คือ ตุงที่ทำขึ้นจากวัสดุที่ค่อนข้างจะคงทนและสามารถคงรูปอยู่ได้นาน อาทิ ไม้แกะสลัก ปูนปั้นบ้าง หรือโลหะ

สัตภัณฑ์ แท่นเชิงเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัย ในโบสถ์ วิหาร ของดินแดนล้านนา สัตภัณฑ์ มาจากคำว่า สัตบริภัณฑ์ หมายถึงภูเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ มีลักษณะเป็นแผ่นไม้สลักลาย ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือครึ่งวงกลมตั้งอยู่บนตั่ง แผ่นไม้นี้จะมีหลักสำหรับเสียบเทียน โผล่พ้นขอบบน 7 อัน ซึ่งหมายถึงภูเขาทั้ง 7 ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ ถือเป็น ศิลปวัตถุ ที่บ่งบอกประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนศรัทธาความเชื่อของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี

มาร่วมสัมผัสและค้นหาความหมายศิลปวัตถุสไตล์ล้านนา ตลอดจนงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายแขนงได้ใน งาน “กาดศิลป์” จัดขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 7 – วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16:00 – 21:00 น. ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 053-716605-7 หรือ 081-289-6376 งานนี้ เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : Tel : 02-252-7114 # 332

  • จริญญา อัครภาณุวิทยา (จอย)      โทร. 081-822-9596          E-mail : jarinya@doitung.org
  • ศิริพร ทวีธนวาณิชย์ (ก้อย)           โทร. 086-375-5852          E-mail : siriporn@doitung.org