ท่ามกลางกระแสซีรีส์ไทยที่เติบโตสู่ระดับนานาชาติอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง กลายเป็นพื้นที่สื่อสารที่ทรงพลังที่สุดแห่งหนึ่งของยุค ที่ไม่เพียงสร้างชื่อเสียง และรายได้มหาศาลให้บุคลากรในวงการฯ และประเทศชาติ ยังเป็นกระบอกเสียงเล่าเรื่องของคนที่ถูกมองข้าม ความเท่าเทียม และช่วยขับเคลื่อนความเข้าใจเรื่องความหลากหลายให้กับสังคม
คำถามใหม่ที่กำลังเริ่มต้นคือ เราจะสร้างผลงานโดยทำให้ผู้ชมเห็นความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อพวกเราเองได้หรือไม่” คำตอบคือ วันนี้จุดเริ่มต้นกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว จากความร่วมมือของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ภายใต้แบรนด์ DoiTung กับ MOJO MUSE MANAGEMENT (MMM) บริษัทผลิตซีรีส์ที่สอดแทรกประเด็นอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในวงการอุตสาหกรรมบันเทิงไทย
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้วคือการนำต้นแบบจากที่พัฒนาโครงการ และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เพียงสร้างงานอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและชุมชน แต่ยังทำให้คนอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่มีขยะไปสู่บ่อฝังกลบ 100% เกือบ 10 ปีจนขยายผลไปยังหมู่บ้านโดยรอบอีก 24 หมู่บ้านได้
และวันนี้องค์ความรู้จากดอยตุง จะได้รับการต่อยอดไปถูกปรับใช้ในระดับใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนใน “วงการบันเทิง” ให้ผู้ผลิตสื่อได้เข้าถึงแนวทางการ คัดแยก จัดการ และหมุนเวียนทรัพยากรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การผลิตไม่กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาในวันข้างหน้า และนี่อาจเป็นครั้งแรกที่แนวทาง Zero Waste to Landfill จะถูกทดลองใช้กับการผลิตซีรีส์หรือคอนเทนต์ในระดับมืออาชีพซึ่งหากสำเร็จ จะไม่ใช่แค่ เบื้องหลังที่ใส่ใจแต่เป็นต้นแบบที่ขยายผลได้ทั้งอุตสาหกรรม
เพราะซีรีส์คือเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งในยุคนี้ และกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนรุ่นใหม่ ผู้ที่กำลังจะกลายเป็นอนาคตของสังคมและเป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้ามาทำงานร่วมกับหนึ่งในบริษัทผลิตซีรีส์รุ่นใหม่ที่มีพลังอย่าง MOJO MUSE MANAGEMENT จึงไม่ใช่แค่การจับมือทางเทคนิค แต่เป็นการยืนยันว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมความยั่งยืน และ “ตำราแม่ฟ้าหลวง” สามารถส่งต่อและต่อยอดได้จริงในทุกวงการ เพราะเรื่องของโลกไม่ควรเป็นภาระของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกอุตสาหกรรมบนโลกใบนี้ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น