มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ น้อมนำแนวพระราชดำริในการหยุดวงจรแห่งความทุกข์ยากมาใช้ในการดำเนินงานพัฒนาอย่างบูรณาการที่มีคนเป็นแก่นกลาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนชีวิตคนที่ขาดโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้

สิ่งแรกที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำในการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ ส่งทีมงานภาคสนามซึ่งเป็นนักพัฒนาเดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ พูดคุยและรับฟังปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่จริง ใช้เวลาอยู่กับชาวบ้านนานนับเดือนเพื่อสร้างความเข้าใจ อธิบายเป้าหมายการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ ทั้งจำนวนประชากร สภาพพื้นที่ และปัญหาของชาวบ้าน อันนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคน ด้วยการสร้างอาสาสมัครนักพัฒนาขึ้นมาในแต่ละชุมชน เพื่อให้พวกเขาสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนของตนเองในระยะยาว คนในพื้นที่กลุ่มนี้จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เป็นตัวเชื่อมกับชุมชน คอยถ่ายทอดปัญหาของชาวบ้านให้เจ้าหน้าที่ฟัง และนำนโยบายไปพูดคุยกับชาวบ้านต่อไป วันหนึ่งเมื่อโครงการสิ้นสุดลง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ผลผลิตจากการพัฒนาเหล่านี้ก็ยังอยู่กับชุมชนต่อไป และนั่นก็คือกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยึดมั่นเป็นแนวทางในการดำเนินงานมาโดยตลอด  

แต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาต่างกัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะไม่หาทางแก้ไขปัญหาด้วยการนั่งประชุมในสำนักงาน แต่ต้องลงพื้นที่ ไปเห็น ไปเข้าใจปัญหาจริงๆ เมื่อ ‘เข้าใจ เข้าถึงแล้ว การพัฒนาที่ถูกทางจึงจะตามมา’ นักพัฒนาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงต้องตอบคำถามสำคัญที่ว่า ‘ทุกบาททุกสตางค์ที่เราลงทุนไป ชาวบ้านได้อะไร?’ เสมอ

‘ดอยตุงโมเดล’ คือ บทเรียนและประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า 30 ปีจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้านเศรษฐกิจและสังคม