มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานรัฐจัดกิจกรรมฟื้นฟูป่าต้นน้ำของดอยตุงกว่า 700 ไร่

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จย่า ปีที่ 29 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานรัฐจัดกิจกรรมฟื้นฟูป่าต้นน้ำของดอยตุงกว่า 700 ไร่ที่ได้รับความเสียหายจากวาตภัยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นำโดย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

การปลูกป่าครั้งนี้มีเป้าหมายให้ใกล้เคียงธรรมชาติดั้งเดิมที่สุด โดยปลูกป่าเสริม 126 ไร่ และปลูกป่าแบบไม่ปลูก 597 ไร่ใน 3 พื้นที่ ได้แก่

  • บริเวณพระตำหนักดอยตุง จำนวน 6 ไร่ กล้าไม้ 1,500 ต้น
  • บริเวณสวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง (ดอยช้างมูบ) 20 ไร่ กล้าไม้ 2,500 ต้น
  • บริเวณบ้านป่ายางอาข่า จำนวน 100 ไร่ กล้าไม้ 4,500 ต้น

พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่นำมาปลูกรวม 22 ชนิดโดยคัดเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละระดับของป่า เช่น ต้นลำดวนดอย มะขามป้อมดง มะเกี๋ยง กันเกรา หงอนไก่ฟ้า เป็นต้น เพื่อสร้างความหลากหลายทางธรรมชาติในพื้นที่สีเขียว

การสืบสานพระราชดำริของสมเด็จย่าในการดูแลป่าให้คน ป่า และสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ นอกจากจะให้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมกับชุมชนโดยรอบแล้ว ยังเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065 ด้วย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน สืบสานพระราชปณิธาน ปลูกป่า ปลูกคน ของสมเด็จย่า

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า
ผู้ทรงก่อตั้ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานไว้นับตั้งแต่ทรงก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว และโครงการต่างๆ โดยเฉพาะ ต้นแบบด้านการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน ในเวทีระดับโลก อย่าง โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย มีเป้าหมายให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มองว่าการบุกรุกทำลายป่าเกิดขึ้นด้วยความจำเป็นเรื่องปากท้อง การปลูกป่าเพื่อให้ป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพมีความอุดมสมบูรณ์ชั่วลูกชั่วหลาน แท้จริงมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การปลูกคน ให้ชุมชนมีอาชีพสุจริตที่หลากหลาย เมื่อป่าเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่มั่นคง ชุมชนจะหวงแหนรักษาป่าเอง

วันนี้ เมล็ดพันธุ์จากพระ​ราช​ปณิธานของการ ปลูกป่า ปลูกคน ได้ผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรม ในมิติทางสังคม
นายทรงยศ วิเศษขจรศักดิ์ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กาแฟอาราบิก้าดอยตุงและเจ้าของร้านกาแฟลิเช เป็นตัวอย่างของผู้เติบโตในครอบครัวและสังคมที่มีแต่ความเจ็บ จน ไม่รู้ แต่เมื่อได้รับโอกาส ก็พยายามจนประสบความสำเร็จ

นายทรงยศ กล่าวด้วยความภูมิใจว่า ตนเองเกิดที่ดอยตุงอยู่ในครอบครัวเกษตรกรและปลูกฝิ่นขายตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ แทบจะทุกคนในหมู่บ้านติดยาเสพติดจากฝิ่น แต่ชาวบ้าน “ไม่รู้” ว่านี่คือสิ่งผิดกฏหมาย รู้แค่ว่าต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กระทั่งสมเด็จย่าทรงก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงฯ พาผู้ติดยาเสพติดไปบำบัด สร้างอาชีพสุจริต ให้การศึกษา จนชาวบ้านมีอาชีพที่ยั่งยืนได้ถึงทุกวันนี้ “ปัจจุบัน ครอบครัวมีอาชีพปลูกและขายกาแฟจากการส่งเสริมของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ประกอบกับตัวเองเป็นคนชอบต่อยอดและเห็นโอกาสจะรีบคว้าไว้ ตอนแรกปลูกกาแฟขายผลสดอย่างเดียวรายได้ไม่มากเพราะโดนพ่อค้าคนกลางกดราคาเราไม่มีความรู้ แต่พอได้ไปดูร้านกาแฟต่างๆ ในเมืองขายกาแฟแก้วละ 40-50 บาท ก็ตกใจมาก เพราะเราต้องขายกาแฟสดถึง 1 กิโลกรัม กว่าจะได้เงินเท่ากาแฟ 1 แก้วของเขาซึ่งใช้ปริมาณกาแฟในการชงแค่นิดเดียว จึงกลับมาเดินหน้าหาความรู้เรื่องการคั่ว แปรรูป หาเงินทุนซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เป็นกองกลางให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ทดลอง” ปัจจุบัน นายทรงยศ ปลูกและคั่วกาแฟขายเองตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำยันปลายน้ำ มีร้านกาแฟเป็นของตัวเองถึง 7 สาขา ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโอกาสที่ได้รับจนได้มีอาชีพที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

อีกหนึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืนที่ไม่ได้ต้องการยืนหยัดได้แค่ตัวเองและครอบครัว แต่มีความตั้งใจที่จะช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ของความรู้และแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์นับร้อยชีวิตบนดอยตุง นางทัศนีย์ โสภณอำนวยกิจ ครูสอนคณิตศาสตร์และภาษาจีน โรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เล่าว่าเป็นลูกสาวคนโตเชื้อสายอาข่า-จีน เกิดในยุคที่ค่านิยมของคนในหมู่บ้านขายลูกสาวไปค้าประเวณีเพื่อความอยู่รอด แต่โชคดีที่พ่อและแม่ไม่ยอมขายลูก และแม่ผู้ไม่มีสมบัติใดๆ มีความตั้งใจแน่วแน่ว่า มรดกเดียวที่ให้ลูกได้คือการส่งเสริมเรื่องการศึกษา เมื่อโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เข้ามาจึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี ซึ่งความฝันของครูดอยคนนี้ บอกว่าอยากเป็นครูตั้งแต่ ม.5 อยากสร้างโอกาสให้คนอื่น เหมือนที่ได้รับโอกาสบ้าง

“ตอนนั้นหนูเปรียบเทียบอาชีพครูเหมือนเรามีมะม่วงอยู่ผลหนึ่ง แต่แทนที่เราจะกินหมดแล้วทิ้งไป เราเอาเมล็ดไปปลูกให้ผลิดอกออกผลต่อไปได้ การศึกษาเป็นสิทธิ์ที่คนเราทุกคนควรได้รับ เพราะมองว่าจะเป็นทางรอดของชีวิตอย่างยั่งยืนได้”

ส่วนมิติสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรจากการฟื้นฟูต้นน้ำที่เคยโดนแผ้วถางเพื่อปลูกฝิ่นจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้นประมาณ 100,000 ไร่ และจัดสรรพื้นที่ป่าตามการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอย ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย จึงไม่มีการบุกรุกป่า และมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด พบพันธุ์ไม้ใหม่ของโลกกว่าสิบชนิด และมีสัตว์ป่าหลายชนิดมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนี้ เช่น เลียงผา แมวดาว นกปีกแพรเขียว ปลาค้างคาวดอยตุง ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาและดูแลพื้นที่ป่ามากว่า 30 ปี และได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในการดูแลรักษาป่าชุมชนใน 9 จังหวัด โดยเชื่อว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกหนึ่งที่ตอบโจทย์ให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้พร้อมๆ กัน ทั้งยังลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศด้วย

ไทยคม ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ประกาศความสำเร็จ กับแพลตฟอร์ม ‘CarbonWatch’ เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองรายแรกในไทย จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตอกย้ำการเป็นองค์กร Space Tech ที่ช่วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ‘CarbonWatch’ ได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสํารวจระยะไกล (Remote Sensing) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) รายแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยคมภายใต้ Earth Insights ซึ่งเตรียมให้บริการด้านคาร์บอนเครดิตแก่ลูกค้าในไทย พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า ในฐานะที่ อบก. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อใช้เป็นกลไกในการสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหรือรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER  ผู้ดำเนินโครงการต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด ซึ่งในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของภาคป่าไม้  อบก. ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการสามารถเลือกใช้ วิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนโดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลด้วยปัญญาประดิษฐ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องแม่นยำจาก อบก. ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดำเนินโครงการ T-VER   โดยไทยคม นับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ โดยเทคโนโลยีการสํารวจระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จาก อบก. ที่สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย  และนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู ดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคม มีความยินดีอย่างยิ่งที่ แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเราที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เช่น ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศของเรา ภายใต้ Earth Insights ที่ให้บริการแก่ลูกค้าของเราในหลายมิติ โดยที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG มาโดยตลอด   ส่งผลให้เราได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง Sustainability Award 2023 และการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ในระดับ AAA ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่ช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ของเราได้รับการรับรองแล้ว จะนำไปใช้งานอย่างจริงจังในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ  พร้อมทั้งเดินหน้าผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญในภาคสนามของเรา มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจนเป็นเครื่องมือที่ได้รับการรับรองในวันนี้ โดยเราได้นำฐานข้อมูลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไปผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของไทยคม จนได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำออกมา นอกจากนี้ผมยังเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราประเมินการกักเก็บคาร์บอนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งให้เกิดการพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รับรางวัลดีเด่นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ จากการนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาทางเลือก ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ปลูกพืชเสพติด

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2567 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก แก่ นายณรงค์ อภิชัย ประธานสายปฏิบัติการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันก่อน จัดขึ้นโดยสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ มูลนิธิ พล.ต.อ.เภา สารสิน ในฐานะบุคคลที่มีผลงานระดับดีเด่นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ จากผลงานที่นำองค์ความรู้การพัฒนาทางเลือกไปพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ปลูกพืชเสพติด พื้นที่หนองตะยา อำเภอพินเลา รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคม

ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้าไปดำเนินกิจกรรมในการมุ่งแก้ปัญหาเร่งด่วนของชุมชนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ในพื้นที่หนองตะยา อำเภอพินเลา รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พร้อมทั้งต่อยอดไปสู่การพัฒนาอาชีพทางเลือกที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงมากยิ่งขึ้น อาทิ ส่งเสริมการปลูกกาแฟ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จากประสบการณ์ปลูกและแปรรูปกาแฟกว่า 30 ปี คัดเลือกเมล็ดพันธุ์อย่างดี เพาะกล้า สอนการจัดการแปลงกาแฟ ตลอดจนพร้อมสร้างโรงคั่วเพื่อแปรรูป และหาตลาด เพื่อชุมชนทำเองได้ในระยะยาว รวมถึงการพัฒนาระบบน้ำและการพัฒนาด้านปศุสัตว์ และการบริหารจัดการต้นทุนทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ได้อย่างเท่าเทียม นำไปสู่การลดปัญหาการปลูกฝิ่นและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำร่องการใช้เทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลดูแลผืนป่าในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (MFLF) เปิดตัวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลในพื้นที่ปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าในด้านการควบคุมการขยายตัวของป่าเศรษฐกิจ เทคโนโลยีนี้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและช่วยให้การวัดปริมาณคาร์บอนเครดิตมีความแม่นยำและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีใหม่นี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการพื้นที่ป่าและการเกษตรแล้วยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สนับสนุนโครงการด้วยการมอบทุนจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้มอบทุนสนับสนุนจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (MFLF) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลที่สามารถติดตามการบุกรุกป่าไม้และพัฒนาแบบจำลองที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดและขยายผลในภูมิภาคอื่น ๆ ในขั้นต้นเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อเฝ้าติดตามสังเกตการณ์ไร่กาแฟในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (DTDP) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาบนที่ราบสูงในจังหวัดเชียงราย โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะบริหารจัดการไร่กาแฟซึ่งปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ และเฝ้าติดตามการขยายตัวของป่าเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการบุกรุกป่า พร้อมทั้งยกระดับโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งใช้วิธีการทางธรรมชาติ (nature-based carbon credit) ของทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งใช้วิธีการทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นางดีปาลี คันนา รองประธาน สำนักงานภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่า “การสนับสนุนเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนที่อยู่ในแนวหน้าของการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเกิดใหม่ (emerging technology) ความริเริ่มนี้มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน เสริมสร้างความเป็นผู้นำในท้องถิ่น กระตุ้นตลาดคาร์บอนให้มีสีสัน และยกระดับมาตรฐานตลาดคาร์บอนเครดิตให้มีความยั่งยืนโปร่งใส”

ด้วยทุนสนับสนุนนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะพัฒนาแอปพลิเคชันที่ผ่านการทดสอบภาคสนามในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งครอบคลุมหมู่บ้าน 29 แห่งและผู้อยู่อาศัยจำนวน 12,682 ราย แอปพลิเคชันนี้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการแยกความแตกต่างระหว่างป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ เนื่องจากต้นกาแฟนั้นมักปลูกใต้ร่มเงา จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันไม่ให้ไร่กาแฟขยายไปสู่เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ในระยะยาว เทคโนโลยีนี้จะช่วยปกป้องป่าอนุรักษ์ โดยส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ทรงคุณค่าในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง นอกจากนี้ ศักยภาพในการคัดแยกระหว่างพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์จะช่วยทำให้โครงการคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุงนั้นมีความแม่นยำโปร่งใสยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทีมงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนที่ปลูกกาแฟเพื่อสนับสนุนการใช้เทคนิคการสำรวจระยะไกลและการพัฒนาโซลูชันที่นำโดยชุมชนเพื่อจุดประสงค์การอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนการพัฒนาโครงการ ยกระดับความพยายามในการอนุรักษ์ป่าไม้ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับชุมชนอื่นๆ นอกพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อขยายผลโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ต่างๆ ทั่วประเทศ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปีในการดำเนินงานด้านการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมถึงการปลูกป่าและการอนุรักษ์ป่า ทั้งนี้ โครงการล่าสุดคือการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งช่วยให้ชุมชนขายคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ โดยโครงการดังกล่าวช่วยกระจายจากภาคเอกชนกว่า 60% สู่ชุมชนโดยตรง ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้จดทะเบียนป่าชุมชนประมาณ 312,500 ไร่กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตของประเทศ ทำให้โครงการนี้เป็นโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งใช้วิธีการทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

องค์ความรู้จากการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับชุมชนในการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลนี้ จะถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาและในกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทุนสนับสนุนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรที่มีความโดดเด่นในด้านความเป็นผู้นำและการสร้างผลกระทบเชิงบวกในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน อันถือเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างตลาดคาร์บอนที่มีความโปร่งใสและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์มุ่งเน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน และการเงิน เพื่อแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศ การดำเนินงานนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีเกิดใหม่ในการส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงและแข่งขันในตลาดให้กับโครงการหรือความริเริ่มที่นำโดยชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่และเกียรติบัตรรางวัลชมเชย การประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2567 ประเภทหนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่และเกียรติบัตรรางวัลชมเชย การประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2567 ประเภทหนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี ให้แก่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ชวนเล่นรอบดอยตุง โดยมี อรัญญา อภิเสถียรพงศ์ นักจัดการองค์ความรู้และออกแบบการเรียนรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นตัวแทนเข้ารับพระราชทานรางวัล จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อกระจายหนังสือดีมีคุณภาพสู่สาธารณชน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันก่อน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานกรรมการประชุมสามัญคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ประจำปี 2567