บทความ: คาร์บอนเครดิตหยุดความยากจนและการขยายพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรมได้อย่างไร?

ภาพ: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

บทความโดย
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
และ สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์


  • ปัญหาภาวะโลกรวน ความยากจน และการขยายพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรม ทั้ง 3 สาเหตุนี้เชื่อมโยงถึงกันแบบแยกไม่ออก การดูแลป่าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ในช่วงปี 2544 – 2562 ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียพื้นที่ป่าไป 610,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศ
  • โครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครอบคลุม 49 ชุมชนทั่วประเทศไทย กิจกรรมของโครงการช่วยปกป้องป่าราว 1 ล้านไร่ จากเหตุการณ์ไฟป่า

การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม นับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการสูญเสียป่าไม้ และส่งผลอย่างรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างปี 2544-2562 เราพบเห็นการสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 610,000 ตร.กม. ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ความแห้งแล้ง และปริมาณน้ำฝนที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ผลักดันให้เกษตรกรขยายพื้นที่ทำกินเพื่อความอยู่รอด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจนำไปสู่การสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจรายปีทั่วโลกถึง 4% ภายในปี 2593

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การแก้ปัญหาที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions – NbS) และการดำเนินการเพื่อปกป้อง จัดการ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนในประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแนวทางที่นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน นอกเหนือจากการรักษาพื้นที่สีเขียว

ทั้งนี้การใช้ NbS เพื่อหยุดการขยายที่ดินเพื่อการทำเกษตรกรรม จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายกลุ่ม เช่น รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคนักวิชาการด้านป่าไม้ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น แต่เนื่องจากกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนและขาดผู้ลงมือทำจริง การนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้มาสู่วงความร่วมมือยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

โมเดลป่าชุมชนของประเทศไทย – ป่าสมบูรณ์นำมาซึ่งความเติบโตและเจริญก้าวหน้าของชุมชน

โครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนเพื่อความยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและพันธมิตร แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนการขยายที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรให้เป็นการดูแลป่า โดยต้องเริ่มจากการสร้างแหล่งรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่จะช่วยให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องผืนป่าอย่างยั่งยืน

โครงการดังกล่าวเชื่อมประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น “ภาครัฐ” ในการอนุญาตให้ใช้ที่ดินสำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา(โครงการ REDD+) “ภาคเอกชน” ที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการ และชุมชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการดูแลป่า

โครงการสนับสนุนชุมชนให้ดูแลป่าและวัดการกักเก็บคาร์บอน ที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิต ผู้บริจาคภาคเอกชนจะสนับสนุนเงินทุนสำหรับกิจกรรมพัฒนาและการจัดการป่าไม้ อีกทั้งบ่มเพาะความคิดริเริ่มทางธุรกิจในท้องถิ่นด้วย แทนการจ่ายเงินเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว

ท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่มนำใบไม้แห้งจากป่ามาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อลดเชื้อเพลิงไฟป่า
ภาพ: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

ตัวอย่างการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นโครงการในปี 2564 ชุมชนดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีป่าชุมชนคิดเป็นพื้นที่ 981 ไร่ และทางชุมชนได้รับเงินทุนเพื่อเริ่มโครงการคาร์บอนเครดิตรราว 9.61 ล้านบาท

หมู่บ้านต้นผึ้ง ชุมชนดอยสะเก็ด นำเงินทุนที่ได้ทำเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนา และจัดตั้งวิสาหกิจท้องถิ่นผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากใบไม้แห้งที่นับเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจนี้สร้างรายได้แก่สมาชิกในชุมชนเฉลี่ย 2.77 แสนบาทต่อปี และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment- SROI) ของหมู่บ้านต้นผึ้งอยู่ที่ 1.26

นอกจากนี้ยังมีการตั้งกองทุนดูแลป่า สนับสนุนให้ชุมชนสร้างแนวกันไฟ และจัดเวรยามลาดตระเวนป้องกันไฟป่า ซึ่งช่วยลดพื้นที่ที่ถูกทำลายจากไฟป่าจากค่าเฉลี่ย  4,638 ไร่ ลดลงเหลือ 2,300 ไร่ ระหว่างปี 2564-2565 ในปีที่ผ่านมา (2565) มีพื้นที่ป่าเกิดไฟป่าเพียง 1,225 ไร่  นับว่าลดลงอย่างมากถึง 17.24% หลังจากดำเนินโครงการมา 2 ปี

พื้นที่ไฟป่าโดยประมาณ ข้อมูลจาก GISDA ประเทศไทย

โครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ครอบคลุม 49 ชุมชน มีพื้นที่มากกว่า 50,000 ไร่ ทั่วประเทศ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และพันธมิตรมีเป้าหมายจะขยายขอบเขตการดูแลป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยตั้งเป้าครอบคลุมพื้นที่ป่า 1,000,000 ไร่ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนกว่า 1,100 แห่ง และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ประมาณ 300,000-500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในจุดวิกฤต

ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundary)
แสดงขีดจำกัด 9 ด้านที่เอื้อให้มนุษย์ยังสามารถดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัยบนโลก
ภาพ: JS Singh

หากเปรียบเทียบการปลูกป่าใหม่หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน  การดูแลป่าไม่ได้ผลิตคาร์บอนเครดิตได้มากนัก

ทว่า การปกป้องป่าไม้สามารถสร้างประโยชน์ร่วมในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนทุกชีวิตบนโลก หากปราศจากความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ พืช และจุลินทรีย์ โลกจะไม่มีระบบนิเวศที่ดีที่ ช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกชีวิตได้หายใจ หรือแม้แต่สร้างแหล่งอาหารที่กินใช้อยู่ในทุกวันนี้

ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundaries) บ่งชี้ว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้นรุนแรงยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายที่ดินทำกิน เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนหยุดบุกรุกพื้นที่ป่า และหยุดขยายพื้นที่เกษตรกรรม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้ว่าโครงการปลูกป่าใหม่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มพื้นที่ป่าได้มาก แต่โครงการ REDD+ ซึ่งมุ่งเน้นให้ชุมชนปกป้องผืนป่าเดิม จะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่เหลืออยู่ของเราได้ เพราะหากปล่อยให้ความหลายหลายทางชีวภาพหายไป ต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยกว่า 120 ปีในการฟื้นตัวเลยทีเดียว

ความหลากหลายทางชีวภาพดำรงอยู่ด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต

ประเทศต่าง ๆ ยังขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่จะมุ่งดำเนินนโยบายป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ แต่ยังส่งผลต่อทุกสรรพสิ่งบนโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้การอนุรักษ์ธรรมชาติและสร้างรายได้ให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในป่า มักถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สวนทางกัน

จากตัวอย่างโครงการของประเทศไทย จะเห็นว่าการสร้างแรงจูงใจจากคาร์บอนเครดิต อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องธรรมชาติพร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนไปพร้อมกันได้  โดยต้องวางแผนการดำเนินโครงการที่ดี เพิ่มความตระหนักรู้ สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดูแลป่า และออกแบบกิจกรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา

ด้วยความพยายามนี้ อาจจะยังมีความหวังในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไว้ได้ต่อไป


บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษ How do carbon credits stop poverty and agricultural land conversion? (https://bit.ly/3WtgYqL) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานประชุมประจำปี World Economic Forum 2023 จัดขึ้นภายใต้ธีม “ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง” ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางจัดการปัญหาภาวะโลกรวน ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการเผาผลาญพลังงานสิ้นเปลืองที่เป็นฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมในปี 2565 (ค.ศ. 2022)

LIGHT OF LIFE: นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงา ที่บอกเล่าการเดินทางของชีวิต

ประมวลภาพบรรยากาศพิธีเปิดงาน “Light of Life” นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงา ที่บอกเล่าการเดินทางของชีวิต  เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) จ.เชียงราย

โดย ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วย คุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคุณธัชพล สุนทราจารย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการ บริษัท ภูมิสถาปนิก Landscape Collaboration จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้

“ก้าวแรกในการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ใน จ.เชียงราย ก็เริ่มต้นที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง พื้นที่แห่งนี้มีมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมหาศาลที่เราอยากเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในปี 2565 จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Light of Life โดยเริ่มต้นจากการชักชวนเหล่าดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบใหม่ บนแนวคิดการนำเสนอแสงไฟสีขาวทั่วทั้งงาน สะท้อนการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างส่องนำทางสังคมเสมอมา ตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนและชุมชน และถือเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดพื้นที่แห่งนี้ต้อนรับทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาทำความรู้จักไร่แม่ฟ้าหลวงมากขึ้น”

ม.ล.ดิศปนัดดา ระบุ

พิธีเปิดงาน Light of Life ได้รับเกียรติจาก คุณสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ อ.นคร พงษ์น้อย ที่ปรึกษาคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ ผอ.อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง เข้าร่วมงานอย่างชื่นมื่น

ขณะที่ อ.สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ ร่วมกับ อ.ฉลอง พินิจสุวรรณ ศิลปินเชียงราย และ อ.เชิด สันดุษิต จิตรกร กวีเชียงราย มาร่วมสร้างปรากฏการณ์ภายในงานด้วยการแสดงวาดภาพจิตรกรรมประกอบการอ่านบทกวี และบรรเลงปี่น้ำเต้า กลายเป็นภาพบรรยากาศ “เชียงรายเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงศิลปะ” อันงดงาม

จากนั้นเป็นการสร้างปรากฏการณ์เปิด “จุดกำเนิด” Lighting Installation Art ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ในสระบัวใจกลางไร่แม่ฟ้าหลวง ผลงานการออกแบบโดย พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ต และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์นิทรรศการ Light of Life แสงสีขาวที่ค่อย ๆ เปล่งสว่างไสวปรากฏแก่สายตาผู้ร่วมงาน เปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดแสง จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดในนิทรรศกาลแห่งนี้

ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเปิดประสบการณ์ออกเดินทางไปด้วยกัน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 29 ม.ค. 2566  ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น. ตราตรึงไปกับ Lighting Installation Art  นับสิบผลงาน โดย 5 ศิลปินหลัก 1 ศิลปินรับเชิญพิเศษ และสตูดิโอ 5 แห่ง คุณภาพระดับประเทศ | เพลิดเพลินไปกับกาดหมั้วในสวนริมสระบัว ร้านอร่อยเจียงฮาย การแสดงศิลปะและดนตรีสดจากเหล่าศิลปิน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จ.เชียงราย

  • บัตรเข้าชมราคาปกติ 200 บาท
  • บัตรเข้าชมราคาพิเศษ 100 บาท [ สำหรับประชาชนที่มีภูมิลำเนาและทำงานใน จ.เชียงราย | นักเรียน นักศึกษา (ถึงระดับปริญญาตรี) | ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ]

สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 เที่ยวสุขใจในแบบ “Future Forest” ส่งต่อเมล็ดพันธุ์ดีช่วยกันดูแล “ป่าของวันพรุ่งนี้”

มาร่วมค้นหาความหมายและทบทวนความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “ป่า” ผ่าน 4 โซนกิจกรรมสุดสร้างสรรค์และการละเล่นใกล้ชิดธรรมชาติแสนสนุก เติมเต็มรอยยิ้มอย่างอิ่มเอม พร้อมอิ่มอร่อยกับร้านค้าร้านอาหารวัฒนธรรมชนเผ่า ท่ามกลางสายลมหนาว ทิวเขา และม่านหมอก ในเทศกาลประจำปี “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9” ที่ในปีนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Future Forest” เด่นด้วยกิจกรรมไฮไลต์งานศิลปะกลางแจ้ง “หนึ่งคน หนึ่งต้นไม้ หนึ่งป่า” และ “สวนสะท้อนตัวตน” เพื่อให้นักท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผืนป่าไทยให้ยั่งยืน

พิธีเปิดงานสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 จัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2665 ที่ผ่านมา ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย โดย นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติการธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในปี 2565 นี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังคงยึดมั่นในการสานต่อแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า ปลูกคน” ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดงาน Future Forest หรือ ป่าของวันพรุ่งนี้ ที่จะบ่มเพาะความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนกับป่า ให้คนที่มาเยือนงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงได้ซึมซับผ่านการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “เมล็ดพันธุ์สีเขียว” ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งใจส่งมอบให้นี้จะงอกงามในใจนักท่องเที่ยว และช่วยกันส่งต่อให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ รักษารากวัฒนธรรมที่สวยงามให้คงอยู่คู่สังคมตราบนาน

“กว่าดอยตุงจะสวยงามได้อย่างนี้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี เมื่อก่อนเรามีป่าเพียงแค่ร้อยละ 28 แต่การปลูกป่าภายในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำให้ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด และป่าดอยตุงไม่ใช่แค่พื้นที่มีไม้ยืนต้นเขียวชอุ่ม แต่นับเป็นพื้นที่แห่งการเกื้อกูลของสิ่งมีชีวิต ผ่านการจัดสรรการใช้พื้นที่ป่าที่หลากหลายเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กำลังเดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำด้านการรักษาป่าผ่านการดำเนินงานผลิตคาร์บอนเครดิตป้อนภาคธุรกิจ อีกทั้งเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2560 ถือว่าเป็นงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ถุงพลาสติก เน้นใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ และวัสดุจากธรรมชาติ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชื่อว่าเราทุกคนสามารถช่วยกันดูแลปกป้องผืนป่าได้ด้วยสองมือ และเริ่มต้นได้ทันทีจากตัวของเราเอง มาเริ่มไปด้วยกันนะครับ” นายประเสริฐ ระบุ

ทั้งนี้ สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิเอสซีจี

ภายในงานชวนให้เพลิดเพลินไปกับ4 โซนกิจกรรมน่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็น โซนกิจกรรมและมุมถ่ายรูปกับ “มุมสนุก” พบกับกิจกรรมไฮไลต์ของเทศกาลเป็นงานศิลปะกลางแจ้ง “หนึ่งคน หนึ่งต้นไม้ หนึ่งป่า” ที่ชวนให้นักท่องเที่ยววาดต้นไม้ของตัวเองคนละ 1 ต้น บนกระดาษสังเคราะห์ไทเวคผืนใหญ่จนกลายเป็นผืนป่าของพวกเรา โดยเมื่อสิ้นสุดงานเทศกาลจะนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มอบให้เยาวชนในศูนย์เด็กใฝ่ดีของทางมูลนิธิฯ และ “สวนสะท้อนตัวตน” การวางกระจกเงาวัสดุจากฝีมือมนุษย์อย่างมีชั้นเชิงท่ามกลางธรรมชาติสวยสด เงาในกระจกสะท้อนทั้งมนุษย์และธรรมชาติไปมาไม่รู้จบ แสดงถึงความเพิ่มพูนของแมกไม้และตัวคนที่จะอยู่ร่วม ดูแล และเติบโตไปด้วยกันอย่างเป็นอนันต์  รวมถึงดนตรี แฟชั่นโชว์จากชนเผ่า ชวนรู้จักดอยตุงให้มากขึ้นผ่าน “Doi Tung & Animal Kingdom” และ “Zero Waste to Landfill & Doi Tung Communities” เวิร์กช็อปสินค้าทำมือใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในซุ้มฮักโลก ฮักเฮา และซุ้มเพลิดเพลินที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ความเป็นดอยตุงที่สร้างความประทับใจและรอยยิ้มให้กับทุกคน

ต่อด้วยโซนอาหารกับ “มุมอร่อย” ที่พร้อมเสิร์ฟ 4 เมนูพิเศษจากครัวตำหนัก เต็มอิ่มกับอาหารชนเผ่ารสเลิศ ขนมหากินยาก เครื่องดื่มสูตรพิเศษจากคาเฟ่ดอยตุง มุมสบาย และร้านค้าชุมชน แล้วแวะมาจับจ่ายของฝากที่ โซนของฝากกับ   “มุมช้อป” ณ กาดดอยตุงและหัตถกรรมชนเผ่า หากชอบเสื้อผ้าหรือของตกแต่งบ้านที่เป็นงานคราฟต์ดีไซน์ร่วมสมัยและรักษ์โลก ก็มีจำหน่ายที่ร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ ยังพรั่งพร้อมด้วยไม้ประดับนานาพันธุ์จากร้านต้นไม้ดอยตุง และพบกับรายการสินค้าราคาดี ราคาเดียว ได้ที่โซนนี้ ตบท้ายที่โซนพักผ่อนกับ “มุมชิล” ที่สามารถพาตัวเองไปชาร์จพลังชีวิตด้วยพลังจากธรรมชาติบนดอยตุงในหลายสถานที่ละลานตา ทั้งสวนแม่ฟ้าหลวง สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง (ดอยช้างมูบ) พระตำหนักดอยตุง เป็นต้น

เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงในปีนี้ ยังคงมาตรการรักษาความปลอดภัยจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีบริการเจลแอลกอฮอล์ และขอให้นักท่องเที่ยวทุกคนสวมหน้ากากขณะเข้าเที่ยวชมภายในบริเวณงาน และเปิดให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าบริเวณงานได้ (Pet-Friendly) แต่ขอให้ดูแลรักษาความสะอาด

สนุกกับประสบการณ์ท่องเที่ยวและนานากิจกรรมจากเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 9 แบบคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว Future Forest ได้ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2565 – 29 มกราคม 2566 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2565 เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 9 ได้ที่ www.facebook.com/DoiTungClub, โทร. 02-252-7114 หรือ 053-767-015-7.

ตัวแทนรัฐบาล 17 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม EGM ครั้งที่ 7 เรียนรู้ “โครงการร้อยใจรักษ์” จ.เชียงใหม่ นำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนปรับใช้ในพื้นที่ยาเสพติด

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติด้านการทำงานพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบ้านจากการปลูกฝิ่นมาเป็นการประกอบอาชีพสุจริต

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เผยแพร่การทำงานด้านการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนของไทย และเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทางเลือก (Expert Group Meeting on Alternative Development-EGM) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงการต่างประเทศของไทย รัฐบาลประเทศเยอรมนี สาธารณรัฐเปรู และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทางเลือกในปี 2565 นี้  จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ “Toward a more inclusive Alternative Development” ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. – 2 ธ.ค. 2565 มีผู้เข้าประชุมร่วมทั้งหมด 52 คน เป็นตัวแทนรัฐบาลจาก 17 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดเนเซีย อินเดีย เยอรมนี สเปน บราซิล เม็กซิโก โคลอมเบีย เปรู ภูฏาน ไนจีเรีย กานา จาเมกา  และอัลเบเนีย รวมถึงผู้ปฏิบัติด้านการพัฒนาทางเลือก ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทางเลือกได้เข้าศึกษาดูงาน ณ โครงการร้อยใจรักษ์ จ.เชียงใหม่ พื้นที่ต้นแบบการนำหลักการพัฒนาเพื่อการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนไปปรับใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติด พร้อมกันนั้นได้ประชุมหารือแนวทางการทำงานพัฒนาทางเลือกในภาพรวม ให้ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เซ็น MOU ดึง ปตท.สผ. – เออาร์วี นำเทคโนโลยีร่วมพัฒนาระบบเก็บข้อมูลและประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า

เดินหน้าเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพ “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ล่าสุด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือ ปตท.สผ. โดยคุณมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบริษัทเอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) โดยคุณธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกลไกการมีส่วนรวมกับชุมชน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย ปตท.สผ. และเออาร์วี พร้อมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การแปลงผลจากภาพถ่ายดาวเทียม การประมวลข้อมูลโดยใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตนเอง (Machine Learning) ในการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ผ่านการพัฒนาศักยภาพชุมชน เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล และประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า โดย ปตท.สผ.จะได้รับคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าฯ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593

นอกจากนี้ ปตท.สผ. และเออาร์วียังขยายความร่วมมือให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับชุมชนเป้าหมายของบริษัท ปตท.สผ.ต่อไปในอนาคต

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และแบรนด์ดอยตุง ถ่ายทอดเรื่องราวงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในงาน APEC 2022 Thailand

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และแบรนด์ธุรกิจเพื่อสังคมดอยตุง (DoiTung) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 29 หรือ APEC 2022 Thailand

ในฐานะ Communication Partners มูลนิธิได้ถ่ายทอดเรื่องราวงานด้านการพัฒนาที่ยังยืน (SDGs) ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ช่วยพลิกฟื้นวิถีชีวิตยากจนของผู้คนในพื้นที่ทุรกันดารให้กลับมาสมดุล มีศักดิ์ศรี ด้วยอาชีพสุจริตและรายได้ที่มั่นคง และเดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตคาร์บอนเครดิตป้อนภาคธุรกิจด้วยนวัตกรรม “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ”

รวมถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลธุรกิจสีเขียว สอดคล้องกับนโยบาย BCG ที่รัฐบาลไทยผลักดันในวาระการประชุม APEC ครั้งนี้ ผ่านนิทรรศการ “50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าปลูกป่า ปลูกคน” และออกร้านสินค้ากับคาเฟ่แบรนด์ดอยตุง

นิทรรศการ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และสินค้าแบรนด์ดอยตุงได้รับความสนใจจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เข้าเยี่ยมชม

การประชุม APEC 2022 Thailand ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. มีเป้าหมายผลักดันให้กลุ่มผู้นำร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อสร้างแนวทางการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาวหลังสถานการณ์ COVID-19

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำเสนองานพัฒนา พลักดันชาวบ้านปกป้องป่าชุมชน ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต กิจกรรมคู่ขนานเวที COP27

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะผู้แทนของประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐสภากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการจัดการปัญหาภาวะโลกรวนกับรัฐภาคี ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Together For Implementation” มีการหารือที่สำคัญคือเรื่องเงินทุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะโลกรวนจากประเทศที่สร้างมลภาวะ ณ เมืองชาร์มเอลชีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565

ระหว่างการประชุม COP27 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้จัดกิจกรรมคู่ขนานเป็นงานเสวนาหัวข้อ “Community and carbon credit: a synergy between nature conservation and community empowerment” ในพื้นที่ Thailand Pavilion โดยนำเสนองานพัฒนาที่สนับสนุนให้ชาวบ้านปกป้องป่าชุมชนในพื้นที่ ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตที่ได้มาตรฐาน ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านจากการดูแลผืนป่า หลังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบรับรองคาร์บอนเครดิตในประเทศที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการยกระดับไปสู่มาตรฐานนานาชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาและอเมริกาใต้ให้ความสนใจในโมเดลดังกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ South Pole บริษัทที่ปรึกษาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกชั้นนำ ที่มองภาพรวมของตลาดคาร์บอนโลก โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของคาร์บอนเครดิตในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมองว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องคาร์บอนเครดิตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

เวที COP (Conference of the Parties) เป็นการประชุมระดับสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ที่รัฐภาคี 195 ประเทศ จะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมหารือกันทุกปี โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5°C เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “คิดถึง….สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ”

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” 21 ตุลาคม ปีที่ 122

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ศูนย์การค้าสยามพารากอน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ได้จัดงานนิทรรศการ “คิดถึง….สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน มีท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะประธานคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ

นิทรรศการ “คิดถึง….สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด จากจุดเริ่ม ถึงจุดเปลี่ยน สู่โอกาส เดินหน้า “ปลูกป่า ปลูกคน” โดยแบ่งเป็น 2 โซน ได้แก่

โซน 50 ปีเส้นทาง “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯตลอด 50 ปี โดย “สมเด็จย่า” ของคนไทยทรงก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ขึ้นเมื่อปี 2515 ด้วยพระราชหฤทัยเชื่อมั่นในความดีและศักยภาพของมนุษย์ และพระราชปณิธานที่จะสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้กับชุมชนที่ขาดโอกาส วันนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 และยังคงยึดมั่นดำเนินงานและเผยแพร่ตำราแม่ฟ้าหลวง เพื่อมีส่วนร่วมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

โซน “ปลูกป่า ปลูกคน” สมเด็จย่าเสด็จฯ เยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 ทอดพระเนตรป่าเสื่อมโทรมและทรงตระหนักว่ารากเหง้าปัญหาของคนในพื้นที่ดอยตุง คือความยากจนและขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต มีรับสั่งว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นจุดเริ่มต้นของแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า ปลูกคน” ให้ชุมชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พร้อมกับแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน จากป่าดอยตุงเกือบ 100,000 ไร่เมื่อสามสิบปีที่แล้ว วันนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีเป้าหมายดำเนินจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชนทั่วประเทศถึง 1,000,000 ไร่

ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จย่า” ที่ทรงมีต่อคนไทยทุกหมู่เหล่า ผ่านงาน “คิดถึง….สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ได้จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2565 ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ขอบคุณภาพจากศูนย์การค้าสยามพารากอน

นิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ”

ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จย่า” กับนิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ระหว่างวันที่ 14-24 ตุลาคม 2565 ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน

ชมนิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ภายใต้แนวคิด จากจุดเริ่ม ถึงจุดเปลี่ยน สู่โอกาส เดินหน้า “ปลูกป่า ปลูกคน” ผ่าน 2 โซนการจัดแสดง คือ

โซน 50 ปีเส้นทาง “แม่ฟ้าหลวง” บันทึกเรื่องราวการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้กับชาวไทย ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

โซน “ปลูกป่า ปลูกคน” ถ่ายทอดแนวทางและความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย

ห้ามพลาด! เตรียมช้อปผลิตภัณฑ์จากร้านต้นไม้ดอยตุง ร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ และครัวตำหนัก พร้อมร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปจัดสวนถาดและดริปกาแฟได้ทุกวัน

ร่วมถ่ายทอดความคิดถึงผ่านนิทรรศการโดยบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)