นิทรรศการ “50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าปลูกป่า ปลูกคน” ในงาน Sustainability Expo 2022

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนคนหัวใจสีเขียวมาเที่ยวชมงานนิทรรศการ “50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าปลูกป่า ปลูกคน” ที่บอกเล่าเรื่องราวการลงมือ “ทำจริง” เกี่ยวกับงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อโลกนี้ที่ดีกว่า ภายในงาน Sustainability Expo 2022  มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กว่าครึ่งศตวรรษที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สืบสานพระราชปณิธานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการปลูกป่าปลูกคน จากจุดเริ่มต้นจวบวันนี้ ผืนป่าที่เคยเป็นดินแดงและแร้นแค้นบนดอยตุง จ.เชียงราย  ได้พัฒนากลายเป็นป่าอุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มครอบคลุมในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ความยั่งยืนได้หยั่งรากลึก เติบโต และผลิใบในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ภายในงานยังมีนวัตกรรม องค์ความรู้ และกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่จะทำให้คุณเปลี่ยนจากความตระหนักมาเป็นลงมือทำทันที

พบแรงบันดาลใจการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ที่ บูธ F1 Hall 3 ชั้น G ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. จนถึงวันที่ 2 ต.ค. 2565 นี้

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือ ทส. ลงนาม MOU “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เดินหน้าเพื่อสิ่งแวดล้อมไทยสิ่งแวดล้อมโลกที่ดีกว่า

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผลักดันกลไกนำป่าชุมชนและพื้นที่ป่าอื่น ๆ ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) พร้อมเชื่อมภาครัฐ เอกชน และชุมชนดูแลผืนป่าไทยให้อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิต นำโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำ และตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายป่าชุมชน ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

ความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมให้ป่าที่อยู่ในการดูแลของทั้ง 3 กรม เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,000,000 ไร่ ส่งผลให้มีประชาชนได้รับประโยชน์อีกกว่า 1,100 ชุมชน และมีปริมาณคาร์บอนเครดิตรวม 300,000-500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี