การประชุมวิชาการสารเสพติดระดับชาติ ครั้งที่ 11 : สภาวการณ์นานาชาติที่มีผลต่อการใช้สารเสพติด (International Influences on Drug Abuse)

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นวิทยากรพิเศษในหัวข้อ “อนาคตของการพัฒนาทางเลือก” ในการประชุมวิชาการสารเสพติดระดับชาติ ครั้งที่ 11 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาคี เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาด การป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งจุดประกายความคิดให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้จริง ตลอดจนพัฒนาศักยภาพให้แก่นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานด้านสารเสพติดอย่างต่อเนื่อง

ปัญหายาเสพติดในวันนี้ได้วิวัฒนาการจากพืชเสพติดไปสู่สารเสพติดสังเคราะห์ ข้อมูลสถานการณ์โลกจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า ปัญหาการปลูกพืชเสพติดในภูมิภาคของเราลดลง แต่ปัญหาสารเสพติดสังเคราะห์เพิ่มสูงขึ้น โดยในประเทศไทยมีการนำเข้ายาบ้าและยาไอซ์ 26% จากประเทศในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้รัฐบาลไทยเสียงบประมาณในการแก้ไขปัญหายาเสพติดสูงถึง 166,722 ล้านบาท

ส่วนใหญ่แล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในปัจจุบันจะดำเนินไปในแนวการป้องกันและปราบปรามซึ่งเป็นเชิงยุทธการ แต่ “การพัฒนาทางเลือก” จะมองต่างออกไป คือ เห็นว่าคนที่หลงเข้าไปอยู่ในวงจรของการค้ายาเสพติด ยอมทำผิดกฎหมาย เป็นเพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาสในชีวิต ดังนั้น หากยังคงยากจน และยังสังคมยังไม่เปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่อาจจะแก้ไขได้ แต่หากช่วยให้คนในพื้นที่ต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน   

การที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มุ่งมั่นดำเนินงานด้านการพัฒนาทางเลือกทั้งในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และในพื้นที่โครงการขยายผลอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า “การพัฒนาทางเลือก” นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาการปลูกพืชเสพติดซึ่งเป็นปัญหาในอดีตได้แล้ว ยังสามารถแก้ไขปัญหาสารเสพติด ได้แก่ ยาบ้าและยาไอซ์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันได้อีกด้วย