คณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในโอกาสมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ครบ 50 ปี

คณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในโอกาสมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ครบ 50 ปี โดยมีท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานในพิธี ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันอังคารที่ 26 เมษายน 2565

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทรงศึกษาธรรมะด้วยพระอุตสาหะ และทรงผูกพันกับวัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยมีพระราชศรัทธาในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระราชปณิธานให้ชาวพุทธเข้าใจและปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณให้เรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาหลายเรื่อง รวมถึงทรงอาราธนาให้ดำเนินรายการ “การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่” ทางสถานีวิทยุ อส พระราชวังดุสิต ทุกเช้าวันอาทิตย์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงผนวช และประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี 2499 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ พระประธานภายในพระอุโบสถ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรและป่าไม้ในการลดก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรและป่าไม้ในการลดก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นอีกแรงขับเคลื่อนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและก๊าซเรือนกระจก

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมี ดร. วิรไท สันติประภพ เลขาธิการและประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมด้วยผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามครั้งนี้

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จะเอื้อให้ทั้งสองหน่วยงานวิจัย พัฒนานวัตกรรม และผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีการเกษตรและป่าไม้ในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมมือวิจัยและพัฒนาเครื่องมือระบบการวัด การติดตามการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการเกษตรและป่าไม้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และร่วมกันพัฒนาระบบวนเกษตร พืชสมุนไพรและพืชอื่นๆ ควบคู่กับการปลูกป่า รวมถึงงานวิจัยด้านอื่นๆ เพื่อสร้างทางเลือกและส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร และจัดงานประชุมวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ และความร่วมมือทางวิชาการด้านอื่นๆ ที่สถาบันทั้งสองแห่งเห็นชอบร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวิรไท สันติประภพ เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้จัดการโครงการชาน้ำมัน กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการชาน้ำมันประจำปี 2564 มีผลผลิตชาน้ำมันรวม 123 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 3 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการปรับปรุงพันธุ์และเพิ่มผลผลิตจำนวน 41,703 ต้น และการตัดแต่งกิ่งให้เกษตรกรจำนวน 671 แปลง จากนั้น นายวงศกร เชหมื่อ เกษตรกรตัวอย่างในโครงการฯ กราบบังคมทูลรายงานการปรับปรุงวิธีการดูแลแปลงชาน้ำมัน และการเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นๆ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 สนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงเล็งเห็นว่าชาน้ำมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนได้ในระยะยาว โครงการได้นำเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนของชาน้ำมันจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาศึกษาทดลองใน 2 พื้นที่ ซึ่งเดิมมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมในหมู่บ้านปางมะหัน และหมู่บ้านปูนะ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย รวมพื้นที่ 3,417 ไร่ ปัจจุบันโครงการฯ มีต้นชาน้ำมันรวม 480,263 ต้น

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ให้ชุมชนในพื้นที่ อาทิ การส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเหมยซาน การเลี้ยงไก่กระดูกดำ และการปลูกพืชทางเลือกในพื้นที่ทำกิน เช่น ชาอัสสัม พริก ตะไคร้ เป็นต้น

เวลา 09.25 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโรงเรียนพญาไพรไตรมิตร นางสาวนฤมล สุทุม เจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมชุมชนประจำปี 2564 ชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมอบรมการพัฒนาทักษะ 27 ราย และผลิตชิ้นงานกว่า 14,000 ชิ้น สร้างรายได้ประมาณ 140,000 บาท จากนั้น ทอดพระเนตรงานหัตถกรรมชุมชนของราษฎรบ้านห้วยอื้น และบ้านแม่คำน้อยที่มาเฝ้า ฯ รับเสด็จ

เวลา 10.10 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังสำนักงานโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันปางมะหัน ทรงใส่ปุ๋ยและรดน้ำต้นชาน้ำมันที่ทรงเปลี่ยนยอดพันธุ์ไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้น ทรงปลูกต้นชาน้ำมันดอกแดง และต้นชาน้ำมันจากมณฑลกว่างสีสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้จัดการโครงการชาน้ำมัน และนายธีรพันธ์ โตธีรกุล ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กราบบังคมทูลรายงานความคืบหน้าการปลูกต้นชาน้ำมันดอกแดงและผลวิจัยต้นชาน้ำมันดอกแดงแต่ละสายพันธุ์ นายจะเอ่อ แซ่หู่ เกษตรกรตัวอย่างในโครงการชาน้ำมันกราบบังคมทูลรายงานการปรับปรุงดูแลแปลงชาน้ำมัน 

เวลา 13.45 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน บ้านป่าซางนาเงิน ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นายวิรไท สันติประภพ เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และพื้นที่ขยายผลในอำเภอแม่ฟ้าหลวงประจำปีการศึกษา 2564 ที่ประชุมกราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ตามระดับชั้น ได้แก่

  • การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ในระดับปฐมวัย
  • การจัดการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับเด็กที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในโรงเรียน 36 โรงภายในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และพื้นที่ขยายผลในอำเภอแม่ฟ้าหลวง พร้อมกับโครงการการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูวส์
  • การจัดการเรียนรู้ด้านการอ่านภาษาไทย ร่วมกับสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย และ
  • การงานพื้นฐานทักษะอาชีพในระดับมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กราบบังคมทูลรายงานการวิจัยประเมินลักษณะของเด็กที่มีปัญหาการเรียนในอำเภอแม่ฟ้าหลวง รวมถึงการบูรณาการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานนักเรียนจากการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) ผลงานขยะเหลือศูนย์ในโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา ซึ่งได้รับรางวัลอันดับสาม จากการเข้าร่วม “โครงการชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ปี 2564 ในระดับประเทศ” นิทรรศการการงานพื้นฐานทักษะอาชีพกลุ่มเกษตร อาหาร และงานประดิษฐ์ การสาธิตการเรียนการสอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 สำหรับเด็กที่มีความยากลำบากในการเรียนภาษาไทย และการสาธิตการเรียนรู้ด้านการอ่านภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6