ตระการตา สวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่! เนรมิตดอกไม้กว่าแสนต้นฉลอง “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10”

บรรยากาศลมหนาวปลายปีกลับมาอีกครั้ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนสัมผัสความสุขกับธรรมชาติบริสุทธิ์บนดอยตุงกับงาน สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” เทศกาลแห่งความสุขที่สูงที่สุดในประเทศไทย ปีนี้มาพร้อมกับสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ ตื่นตาตื่นใจกว่าทุกปีภายใต้แนวคิด ดอกไม้ระบายดอย เนรมิตดอกไม้ที่ชาวดอยตุงปลูกเองกว่า 100,000 ต้น ผสานภูมิทัศน์รูปแบบใหม่ โดยภูมิสถาปนิกชื่อดังระดับประเทศ พร้อมกาดชุมชนบนถนนคนเดินกว่า 80 ร้านมาให้ช็อปท้าลมหนาว ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดพิธีเปิดงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” อย่างเป็นทางการแล้ว ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานมากมาย อาทิ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย วิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงราย ปวิณ ชำนิประศาสน์ และ ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ศุภาดา ชัยวงษ์ ผู้แทนการตลาด สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ เป็นต้น

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่ากระผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นทุกฝ่ายร่วมกันจัดงานสีสันแห่งดอยตุงขึ้นในครั้งนี้  ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย อีกทั้งยังเป็นการสืบสานวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนไปสู่นักออกแบบรุ่นใหม่ อันจะเป็นการสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่อไป

นายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติการธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ  กล่าวถึงความพิเศษของการจัดงานในปีนี้ว่า งานสีสันแห่งดอยตุงจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไฮไลต์ของปีนี้ คือ การปรับภูมิทัศน์ของสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชิญ ธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิกชื่อดังระดับประเทศ มาออกแบบใหม่ เป็นทุ่งดอกไม้ โดยใช้ดอกไม้เมืองหนาวกว่า 100,000 ต้นจากดอกไม้ 10 สายพันธุ์ อาทิ ดอกบลูซัลเวีย ดอกแวววิเชียร ดอกดาวกระจายโซนาต้า ดอกรองเท้านารี และดอกกล้วยไม้พันธุ์ฟาแลนนอปซิส เป็นต้น กลายเป็นอีกจุดถ่ายรูปเช็คอินแห่งใหม่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อม และเบื้องหลังดอกไม้อันสวยงาม คือ การจ้างงานเกษตรกรบนดอยตุงนับร้อยชีวิตที่ปลูก ฟูมฟัก และรังสรรค์สวนใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน

นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนผ่านงานหัตถกรรม อาหารพื้นถิ่น ไม้ดอกไม้ประดับ และการแสดงของเด็กรอบโครงการพัฒนาดอยตุงฯ แล้ว ยังมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวทุกคนในครอบครัวมากมาย อาทิ สายคาเฟ่ ห้ามพลาดมุมระเบียงดอย และ Slow Bar กลางสวนดอกไม้สำหรับดื่มด่ำกาแฟดริปสุดพิเศษเฉพาะงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งนี้ พร้อมฟินกับไอศกรีมดอยตุง 3 ลายออกใหม่ ไอศกรีมดอกไม้ระบายดอย รสอัญชันน้ำผึ้งมะนาว ไอศกรีมน้องหมี่ก่า รสนมชมพู และไอศกรีมน้องโต รสชาไทย อร่อยท้าลมหนาว แถมนำไปถ่ายรูปกับสวนสวยได้อีก และฟินสุดกับของที่ระลึกงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 10 ของที่ระลึกโปรเจกต์พิเศษระหว่าง DoiTung x WHITE HAT. ออกแบบโดย ชะเอม-ปัณรสี ศะศินิล นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดดอกไม้ 7 สายพันธุ์ในสวนแม่ฟ้าหลวงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ เสื้อยืด กระเป๋าผ้า สมุดกระดาษสา แก้วเซรามิก และกระเป๋าใส่เหรียญ

ส่วนสายชิม เชิญอิ่มอร่อยกับอาหารเหนือและอาหารชนเผ่าสุดลำ ขนมพื้นบ้าน และเครื่องดื่มสูตรพิเศษ จากร้านค้าชุมชนกว่า 80 ร้าน อาทิ พิซซ่าหน้าหมูดำบาร์บีคิวเข้ากันดีกับซอสบาร์บีคิวเข้มข้น ซูชิดอย หมูย่างอาข่า และข้าวปุ๊กปิ้ง ขนมมงคลของชาวไทยใหญ่ ยำหัวบุกเส้นรสเจ็บ แซ่บสะเด็ดไปทั้งดอย แยมคราฟต์ช็อกโกแลต ชาดาวอินคา ชาอินทรีย์อู่หลง สูตรบำรุงหัวใจจากสวนชาออร์แกนิกดอยตุง และแฟนๆ อาหารครัวตำหนักไม่ควรพลาด ข้าวเหลืองดอกปุดอุ๊บเนื้อไก่ เมนูใหม่! ประยุกต์จากอาหารชาวไทใหญ่ จับคู่ข้าวสีเหลืองจากดอกปุด กินกับ อุ๊บไก่ หรือ ไก่อบกับพริกแกงสูตรเฉพาะของครัวตำหนัก เฟตตูชินีแกงฮังเลหมู ดอกไม้ มูสดอกอัญชัน และครัมเบิลแมคคาเดเมีย เสิร์ฟพร้อมตะลิงปลิง เป็นต้น

สายช็อปพบกับร้านดอยตุง ไลฟ์สไตล์ นำเสนองานคราฟต์ชนเผ่าทรงคุณค่า ทั้งเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน ดีไซน์รวมสมัยแต่ยังคงเอกลักษณ์ของชนเผ่าชาวดอยตุง พร้อมชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากของ 6 ชนเผ่าบนดอยตุง อาทิ ชาติพันธุ์นานาไหว้สาแม่ฟ้าหลวง กระทุ้งไม้ไผ่อาข่าประยุกต์ เมาธ์ออแกน เต้นจะคึ และนารีศรีชาติพันธุ์ เป็นต้น  

นอกจากนี้ยังเอาใจสายศิลปะและรักธรรมชาติกับการเวิร์กช็อป Tattoo ดอกไม้ดอยตุง เวิร์กช็อปยิงพรม เพ้นท์เซรามิก ฯลฯ สามารถนำกลับบ้านเป็นของฝากได้อีกด้วย และที่ขาดไม่ได้กับกิจกรรมรักษ์โลก CARBON NEUTRAL EVENT เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงเป็นงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในงานเน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ และทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระบอกไม้ไผ่ และใบตอง เป็นต้น

เชิญพบความสนุกแบบเต็มอิ่มในเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่10 ได้ที่ www.facebook.com/DoiTungClub หรือโทร 053-767-015-7

นโยบายการจัดงานอย่างยั่งยืน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ให้บริการสถานที่สำหรับจัดงาน รวมถึงเป็นผู้จัดงานต่าง ๆ อาทิ การรับรองคณะศึกษาดูงาน คณะผู้มาเยี่ยมชม คณะท่องเที่ยว กิจกรรมเยาวชน เป็นต้น ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการการจัดงานอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งให้ชุมชนและธรรมชาติอยู่รอด และเติบโตไปด้วยกัน และเกิดความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับแนวทางการพัฒนาที่ยังยืนของโลก มูลนิธิฯ จึงกำหนดนโยบายสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งมั่นดำเนินงานการจัดงาน (Events) ตามหลักความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นต่อไป โดย ครอบคลุมองค์กร ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

previous arrow
next arrow
previous arrownext arrow
Slider

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพิ่มพันธมิตรโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าฯ ดึงราชกรุ๊ปเดินหน้าองค์กร ESG

การลงนาม MOU โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่ป่าชุมชนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 10,000 ไร่ ระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกลไกการพัฒนาศักยภาพชุมชน และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนชุมชนในการขึ้นทะเบียน T-VER เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตที่จะช่วยพัฒนากลไกดูแลป่าและสร้างรายได้แก่ชุมชนในระยะยาว นับเป็นพันธสัญญาระหว่างพันธมิตรที่จะเดินเคียงข้างในแนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน ESG

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวถึงการลงนาม MOU ในครั้งนี้ว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่า โดยเริ่มจากการเปลี่ยนคนปลูกฝิ่นมาเป็นคนปลูกป่า และสะสมความรู้ด้านการปลูกป่ามากว่า 30 ปี ในพื้นที่ปลูกป่าหลายโครงการประมาณ 400,000 ไร่ จนได้สมการสำหรับชุมชนที่จากเดิมที่ต้องบุกรุกป่าเพื่ออยู่รอด มาเป็นดูแลป่าเพื่ออยู่รอด มีความยินดีที่พันธกิจของมูลนิธิได้ขยายไปพร้อมกับการทำงานกับภาคธุรกิจ

“การมีราชกรุ๊ปเป็นพันธมิตรในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าฯ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงตลาดทุนและภาคประชาชน รวมถึงการทำรายงานของบริษัทในตลาดทุนบนพื้นฐานใหม่ที่ยึดแนวทาง ESG”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าว

ด้านคุณชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงการเร่งมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก และหนึ่งวิธีที่บริษัทจะดำเนินการคือสนับสนุนการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติ  ผ่านโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่มุ่งเน้นการทำงานในป่าชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่ราชกรุ๊ปร่วมกับกรมป่าไม้ดำเนินการมากว่า 15 ปี เพื่อรักษาพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน

“เชื่อว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และราชกรุ๊ปมั่นใจและภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ด้วยเห็นถึงความสำเร็จในงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ หรือโครงการอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

คุณชูศรี ระบุ

ความร่วมมือดังกล่าวเป็นผลมาจากช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน Energy Transition ที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608 ตามการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 ราชกรุ๊ปในฐานะบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าและลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ จึงเบนเข็มขยายแผนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนจาก 19% เป็น 40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า และให้ความสำคัญในมิติของสิ่งแวดล้อมที่พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นองค์กร ESG เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อมูลพื้นฐาน

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

พื้นที่โครงการ

10 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี ยโสธร  อำนาจเจริญ และกระบี่

ผู้รับประโยชน์ (พ.ศ. 2566)

ป่า 147,037 ไร่
ประชากร 120 ชุมชน

ภาพรวมโครงการ

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มเมื่อปี 2564 โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาคีภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) GISTDA ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน รวมทั้งไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ และฝุ่นควันจากไฟป่า

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ในภาคการเกษตรและป่าไม้ นั่นคือ ต้นไม้สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และในประเทศไทยมีชุมชนที่ดูแลป่าดีอยู่แล้ว และในอีกทางหนึ่ง มีภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตน ดังนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงเชื่อมให้ชุมชนต้นน้ำและปลายน้ำได้สนับสนุนกัน และเกิด win-win situation หรือสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ อันเป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เริ่มจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจแปลงป่าเพื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปให้ความรู้และสร้างทักษะ พร้อมทั้งถ่ายทอดกระบวนการทำงาน และเป็นที่ปรึกษาแก่ชุมชนที่ต้องการ เพื่อให้ชุมชนมีฐานข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอนฯ อย่างเป็นระบบ พร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ ภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยผ่านหน่วยงานภาครัฐ โดยภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ และได้รับคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตน ในขณะที่ชุมชนเกิดรายได้เสริมจากการดูแลป่า ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบกองทุนของหมู่บ้าน สามารถใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลรักษาป่าต่อไป

การดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการต่อยอดหลักการ “ปลูกป่า ปลูกคน” ซึ่งเป็นรากฐานการดำเนินงานด้านป่าไม้ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาโดยตลอด นั่นคือ เมื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับมาเขียวขจีแล้ว ก็ต่อยอดให้ชุมชนดูแลรักษาและได้รับประโยชน์จากการดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกระบวนการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม และการนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาดำเนินการร่วมกันตลอดกระบวนการ

ในปี 2566 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมุ่งมั่นร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ขยายการดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้โครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 1.47 แสนไร่ 120 ชุมชน เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

ชาวบ้านได้อะไร

เงินสนับสนุนกองทุนดูแลป่าจำนวน

11,885,656 บาท

เงินสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำนวน

5,402,897 บาท

ดูแลผืนป่าโดยตรง

เช่น แนวกันไฟ ลาดตระเวน อนุรักษ์ สร้างความชุ่มชื้นแล้ว
 

ส่งเสริมอาชีพให้คนอยู่ร่วมกับป่า

เช่น การผลิตภาชนะจากเศษใบไม้ของชุมชนบ้านต้นผึ้ง ตลาดของป่าชุมชนของชุมชนบ้านแม่ฮ้องไคร้ กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงของชุมชนบ้านปี้ เป็นต้น
จากกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม และการพัฒนาต่อยอดผลผลิตจากป่า นำไปสู่การพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน

ส่งเสริมให้ชาวบ้านใน 120 ป่าชุมชน

และชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียง อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
สร้างรายได้ให้ชุมชนอีกประมาณ

79.97 ล้านบาท

ซึ่งสามารถนำไปดูแลรักษาผืนป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่ร่วมกับป่าต่อไปได้อีก
ค่าเฉลี่ยของการเกิดไฟป่า
ลดลง

17.24%

ในพื้นที่