ข้อมูลพื้นฐาน

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

พื้นที่โครงการ

10 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี ยโสธร  อำนาจเจริญ และกระบี่

ผู้รับประโยชน์ (พ.ศ. 2566)

ป่า 147,037 ไร่
ประชากร 120 ชุมชน

ภาพรวมโครงการ

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มเมื่อปี 2564 โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาคีภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) GISTDA ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน รวมทั้งไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ และฝุ่นควันจากไฟป่า

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นจากแนวคิดเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ในภาคการเกษตรและป่าไม้ นั่นคือ ต้นไม้สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และในประเทศไทยมีชุมชนที่ดูแลป่าดีอยู่แล้ว และในอีกทางหนึ่ง มีภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตน ดังนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงเชื่อมให้ชุมชนต้นน้ำและปลายน้ำได้สนับสนุนกัน และเกิด win-win situation หรือสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ อันเป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เริ่มจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจแปลงป่าเพื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปให้ความรู้และสร้างทักษะ พร้อมทั้งถ่ายทอดกระบวนการทำงาน และเป็นที่ปรึกษาแก่ชุมชนที่ต้องการ เพื่อให้ชุมชนมีฐานข้อมูลปริมาณการกักเก็บคาร์บอนฯ อย่างเป็นระบบ พร้อมสำหรับการขึ้นทะเบียนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ ภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยผ่านหน่วยงานภาครัฐ โดยภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ และได้รับคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตน ในขณะที่ชุมชนเกิดรายได้เสริมจากการดูแลป่า ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบกองทุนของหมู่บ้าน สามารถใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลรักษาป่าต่อไป

การดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการต่อยอดหลักการ “ปลูกป่า ปลูกคน” ซึ่งเป็นรากฐานการดำเนินงานด้านป่าไม้ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาโดยตลอด นั่นคือ เมื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับมาเขียวขจีแล้ว ก็ต่อยอดให้ชุมชนดูแลรักษาและได้รับประโยชน์จากการดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกระบวนการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม และการนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาดำเนินการร่วมกันตลอดกระบวนการ

ในปี 2566 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมุ่งมั่นร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ขยายการดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้โครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 1.47 แสนไร่ 120 ชุมชน เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

ชาวบ้านได้อะไร

เงินสนับสนุนกองทุนดูแลป่าจำนวน

11,885,656 บาท

เงินสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำนวน

5,402,897 บาท

ดูแลผืนป่าโดยตรง

เช่น แนวกันไฟ ลาดตระเวน อนุรักษ์ สร้างความชุ่มชื้นแล้ว
 

ส่งเสริมอาชีพให้คนอยู่ร่วมกับป่า

เช่น การผลิตภาชนะจากเศษใบไม้ของชุมชนบ้านต้นผึ้ง ตลาดของป่าชุมชนของชุมชนบ้านแม่ฮ้องไคร้ กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงของชุมชนบ้านปี้ เป็นต้น
จากกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม และการพัฒนาต่อยอดผลผลิตจากป่า นำไปสู่การพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน

ส่งเสริมให้ชาวบ้านใน 120 ป่าชุมชน

และชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียง อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
สร้างรายได้ให้ชุมชนอีกประมาณ

79.97 ล้านบาท

ซึ่งสามารถนำไปดูแลรักษาผืนป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่ร่วมกับป่าต่อไปได้อีก
ค่าเฉลี่ยของการเกิดไฟป่า
ลดลง

17.24%

ในพื้นที่