นิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ”

ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จย่า” กับนิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ระหว่างวันที่ 14-24 ตุลาคม 2565 ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน

ชมนิทรรศการ “คิดถึง…สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ภายใต้แนวคิด จากจุดเริ่ม ถึงจุดเปลี่ยน สู่โอกาส เดินหน้า “ปลูกป่า ปลูกคน” ผ่าน 2 โซนการจัดแสดง คือ

โซน 50 ปีเส้นทาง “แม่ฟ้าหลวง” บันทึกเรื่องราวการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการสร้างโอกาสและทางเลือกในการดำรงชีวิตให้กับชาวไทย ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

โซน “ปลูกป่า ปลูกคน” ถ่ายทอดแนวทางและความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย

ห้ามพลาด! เตรียมช้อปผลิตภัณฑ์จากร้านต้นไม้ดอยตุง ร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ และครัวตำหนัก พร้อมร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปจัดสวนถาดและดริปกาแฟได้ทุกวัน

ร่วมถ่ายทอดความคิดถึงผ่านนิทรรศการโดยบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

นิทรรศการ “50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าปลูกป่า ปลูกคน” ในงาน Sustainability Expo 2022

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนคนหัวใจสีเขียวมาเที่ยวชมงานนิทรรศการ “50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าปลูกป่า ปลูกคน” ที่บอกเล่าเรื่องราวการลงมือ “ทำจริง” เกี่ยวกับงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อโลกนี้ที่ดีกว่า ภายในงาน Sustainability Expo 2022  มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กว่าครึ่งศตวรรษที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สืบสานพระราชปณิธานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการปลูกป่าปลูกคน จากจุดเริ่มต้นจวบวันนี้ ผืนป่าที่เคยเป็นดินแดงและแร้นแค้นบนดอยตุง จ.เชียงราย  ได้พัฒนากลายเป็นป่าอุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มครอบคลุมในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ความยั่งยืนได้หยั่งรากลึก เติบโต และผลิใบในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ภายในงานยังมีนวัตกรรม องค์ความรู้ และกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่จะทำให้คุณเปลี่ยนจากความตระหนักมาเป็นลงมือทำทันที

พบแรงบันดาลใจการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ที่ บูธ F1 Hall 3 ชั้น G ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. จนถึงวันที่ 2 ต.ค. 2565 นี้

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือ ทส. ลงนาม MOU “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เดินหน้าเพื่อสิ่งแวดล้อมไทยสิ่งแวดล้อมโลกที่ดีกว่า

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผลักดันกลไกนำป่าชุมชนและพื้นที่ป่าอื่น ๆ ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) พร้อมเชื่อมภาครัฐ เอกชน และชุมชนดูแลผืนป่าไทยให้อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิต นำโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำ และตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายป่าชุมชน ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

ความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมให้ป่าที่อยู่ในการดูแลของทั้ง 3 กรม เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,000,000 ไร่ ส่งผลให้มีประชาชนได้รับประโยชน์อีกกว่า 1,100 ชุมชน และมีปริมาณคาร์บอนเครดิตรวม 300,000-500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

คณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในโอกาสมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ครบ 50 ปี

คณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในโอกาสมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ครบ 50 ปี โดยมีท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานในพิธี ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันอังคารที่ 26 เมษายน 2565

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทรงศึกษาธรรมะด้วยพระอุตสาหะ และทรงผูกพันกับวัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยมีพระราชศรัทธาในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระราชปณิธานให้ชาวพุทธเข้าใจและปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณให้เรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาหลายเรื่อง รวมถึงทรงอาราธนาให้ดำเนินรายการ “การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่” ทางสถานีวิทยุ อส พระราชวังดุสิต ทุกเช้าวันอาทิตย์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงผนวช และประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี 2499 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ พระประธานภายในพระอุโบสถ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ ก.ล.ต. พัฒนาต้นแบบนวัตกรรม “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ร่วมกับภาคประชาชนในป่าชุมชนสี่จังหวัดผลิตคาร์บอนเครดิตป้อนภาคธุรกิจ พร้อมขยายงานสามแสนไร่ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ชุมชน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า โครงการต้นแบบ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ผ่านกลไกการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นความริเริ่มของ ก.ล.ต. กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในการผสานงานพัฒนาชนบทกับการรักษาป่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

โครงการนี้ดำเนินงานมาแล้ว 15 เดือนร่วมกับชุมชนที่รักษาป่า 16 แห่งของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวม 19,611 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 9,166 คน และได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างดีเนื่องจากลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเกิดผลดีต่อชุมชน ภาคเอกชน และประเทศไทย โดยมุ่งส่งเสริมชุมชนที่ดูแลป่าชุมชนภายใต้ พ.ร.บ. ป่าชุมชน 2562 ให้มีอาชีพทางเลือกใหม่ และมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงจากการรักษาป่าให้สมบูรณ์ และคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน 16 แห่งรวม 392,220 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี

“ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ปีละสามร้อยกว่าล้านตัน จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งก๊าซเรือนกระจกกำลังจะกลายเป็นกติกาหนึ่งในการค้าของโลก ซึ่งถ้าเราไม่เร่งแก้ไข ก็จะถูกกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้”

ป่าชุมชนแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) รับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้ประเมินภายนอกที่มีความเป็นอิสระ

“ชุมชนเหล่านี้ได้รับความรู้ในการดูแลป่าเพื่อประเมินเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตไว้แลกเปลี่ยนในอนาคต รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมอาชีพใหม่ๆ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมและริเริ่มขึ้น ทำให้การดูแลป่าช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ด้วย ส่วนภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมก็มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพคน สนับสนุนให้ชุมชนรักษาพื้นที่ป่า และได้คาร์บอนเครดิตไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

โครงการต้นแบบในป่าชุมชนทั้งสี่จังหวัดได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 2) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 3) บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด 4) บริษัททีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 6) บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด และ 7) บริษัทพีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด รวมเป็นวงเงินประมาณ 43 ล้านบาทสำหรับระยะเวลาหกปีเพื่อวางรากฐานให้กับชุมชน

โครงการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไปใช้ในการสำรวจพื้นที่ทางภูมิสารสนเทศ (GIS) และภาคสนาม วางแปลงตัวอย่าง T-VER เพื่อประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิต จัดอบรมให้ชุมชน และอีกส่วนหนึ่งสำหรับการจัดตั้งกองทุนดูแลป่าและกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัจจุบันชุมชนได้รวมกลุ่มอาชีพใหม่ขึ้นแล้วห้ากลุ่ม เช่น กลุ่มผลิตภาชนะจากใบไม้ กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และกลุ่มตลาดกลางสินค้าชุมชน

สืบเนื่องจากที่ประชาคมโลกเริ่มกำหนดเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นกติกาการค้าของโลก จึงมีการคาดการณ์ว่าราคาคาร์บอนเครดิตจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกสิบปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงขยายโครงการต้นแบบสู่การดำเนินงานอย่างจริงจัง เข้าร่วมกับป่าชุมชนอีก 33 แห่ง ประมาณ 32,500 ไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่ระหว่างปี 2564 – 2565 และคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 150,000 ไร่ในปี 2566 ทั้งยังประเมินว่าป่าชุมชนดังกล่าวสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและคิดเป็นคาร์บอนเครดิตมากถึงประมาณ 2.8 ล้านตัน และสร้างรายได้ให้ชุมชนรวม 840 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปี

นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการขยายกิจกรรมอนุรักษ์ป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานหลักของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

“กระทรวงทรัพยากรฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและมีความเห็นตรงกัน ดังนั้นนอกจากการทำงานร่วมกับชุมชนแล้ว เราก็จะร่วมมือกับทางกระทรวงเพื่อปรับรูปแบบงานเข้าสู่พื้นที่ภายใต้การดูแลของกระทรวง เพื่อให้งานคาร์บอนเครดิตจากป่ากลายเป็นระบบที่เข้มแข็ง”

อย่างไรก็ตาม หม่อมหลวงดิศปนัดดากล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนด้วย

“ไมค์ เบอเนอร์ส ลี ผู้เชี่ยวชาญก๊าซเรือนกระจกของโลกคำนวณไว้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือคนละหนึ่งชั่วโมงต่อวันผลิตคาร์บอนปีละ 63 กิโลกรัม เมื่อนับจำนวนโทรศัพท์ทั้งหมดในโลกและระยะเวลาการใช้งานในแต่ละวันก็ถือเป็นปริมาณมหาศาล เราทุกคนมีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน”

หน่วยงานและบุคคลที่สนใจสนับสนุนโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” สามารถร่วมสมทบทุนดูแลป่าและชุมชนได้ในอัตรา 2,500 บาทต่อไร่ (ระยะเวลาโครงการ 6 ปี) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล: decarbonization@doitung.org

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรและป่าไม้ในการลดก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรและป่าไม้ในการลดก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นอีกแรงขับเคลื่อนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและก๊าซเรือนกระจก

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมี ดร. วิรไท สันติประภพ เลขาธิการและประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมด้วยผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามครั้งนี้

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จะเอื้อให้ทั้งสองหน่วยงานวิจัย พัฒนานวัตกรรม และผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีการเกษตรและป่าไม้ในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมมือวิจัยและพัฒนาเครื่องมือระบบการวัด การติดตามการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนจากกิจกรรมภาคการเกษตรและป่าไม้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และร่วมกันพัฒนาระบบวนเกษตร พืชสมุนไพรและพืชอื่นๆ ควบคู่กับการปลูกป่า รวมถึงงานวิจัยด้านอื่นๆ เพื่อสร้างทางเลือกและส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร และจัดงานประชุมวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ และความร่วมมือทางวิชาการด้านอื่นๆ ที่สถาบันทั้งสองแห่งเห็นชอบร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวิรไท สันติประภพ เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้จัดการโครงการชาน้ำมัน กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการชาน้ำมันประจำปี 2564 มีผลผลิตชาน้ำมันรวม 123 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 3 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการปรับปรุงพันธุ์และเพิ่มผลผลิตจำนวน 41,703 ต้น และการตัดแต่งกิ่งให้เกษตรกรจำนวน 671 แปลง จากนั้น นายวงศกร เชหมื่อ เกษตรกรตัวอย่างในโครงการฯ กราบบังคมทูลรายงานการปรับปรุงวิธีการดูแลแปลงชาน้ำมัน และการเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นๆ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 สนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงเล็งเห็นว่าชาน้ำมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนได้ในระยะยาว โครงการได้นำเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนของชาน้ำมันจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาศึกษาทดลองใน 2 พื้นที่ ซึ่งเดิมมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมในหมู่บ้านปางมะหัน และหมู่บ้านปูนะ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย รวมพื้นที่ 3,417 ไร่ ปัจจุบันโครงการฯ มีต้นชาน้ำมันรวม 480,263 ต้น

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ให้ชุมชนในพื้นที่ อาทิ การส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเหมยซาน การเลี้ยงไก่กระดูกดำ และการปลูกพืชทางเลือกในพื้นที่ทำกิน เช่น ชาอัสสัม พริก ตะไคร้ เป็นต้น

เวลา 09.25 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโรงเรียนพญาไพรไตรมิตร นางสาวนฤมล สุทุม เจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมชุมชนประจำปี 2564 ชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมอบรมการพัฒนาทักษะ 27 ราย และผลิตชิ้นงานกว่า 14,000 ชิ้น สร้างรายได้ประมาณ 140,000 บาท จากนั้น ทอดพระเนตรงานหัตถกรรมชุมชนของราษฎรบ้านห้วยอื้น และบ้านแม่คำน้อยที่มาเฝ้า ฯ รับเสด็จ

เวลา 10.10 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังสำนักงานโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันปางมะหัน ทรงใส่ปุ๋ยและรดน้ำต้นชาน้ำมันที่ทรงเปลี่ยนยอดพันธุ์ไว้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้น ทรงปลูกต้นชาน้ำมันดอกแดง และต้นชาน้ำมันจากมณฑลกว่างสีสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้จัดการโครงการชาน้ำมัน และนายธีรพันธ์ โตธีรกุล ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กราบบังคมทูลรายงานความคืบหน้าการปลูกต้นชาน้ำมันดอกแดงและผลวิจัยต้นชาน้ำมันดอกแดงแต่ละสายพันธุ์ นายจะเอ่อ แซ่หู่ เกษตรกรตัวอย่างในโครงการชาน้ำมันกราบบังคมทูลรายงานการปรับปรุงดูแลแปลงชาน้ำมัน 

เวลา 13.45 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน บ้านป่าซางนาเงิน ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นายวิรไท สันติประภพ เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และพื้นที่ขยายผลในอำเภอแม่ฟ้าหลวงประจำปีการศึกษา 2564 ที่ประชุมกราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ตามระดับชั้น ได้แก่

  • การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ในระดับปฐมวัย
  • การจัดการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับเด็กที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในโรงเรียน 36 โรงภายในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และพื้นที่ขยายผลในอำเภอแม่ฟ้าหลวง พร้อมกับโครงการการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูวส์
  • การจัดการเรียนรู้ด้านการอ่านภาษาไทย ร่วมกับสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย และ
  • การงานพื้นฐานทักษะอาชีพในระดับมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กราบบังคมทูลรายงานการวิจัยประเมินลักษณะของเด็กที่มีปัญหาการเรียนในอำเภอแม่ฟ้าหลวง รวมถึงการบูรณาการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานนักเรียนจากการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) ผลงานขยะเหลือศูนย์ในโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา ซึ่งได้รับรางวัลอันดับสาม จากการเข้าร่วม “โครงการชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ปี 2564 ในระดับประเทศ” นิทรรศการการงานพื้นฐานทักษะอาชีพกลุ่มเกษตร อาหาร และงานประดิษฐ์ การสาธิตการเรียนการสอนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 สำหรับเด็กที่มีความยากลำบากในการเรียนภาษาไทย และการสาธิตการเรียนรู้ด้านการอ่านภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6