มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คว้ารางวัล “Best Design” สินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม จากเวที PM Award 2020

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ปี 2563 (Prime Minister’s Export Award : PM Award 2020) ให้กับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล ประเภทสินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) จากผลงาน “เสื้อโค้ทม้ง” โดยใช้เส้นใยจากการรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเลมาเป็นวัสดุหลักในการออกเเบบผ้าทอมือ  จัดขึ้นโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริม และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันก่อน

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รางวัลสินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) กลุ่มสินค้าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชันเครื่องแต่งกาย เป็นผลิตภัณฑ์จากดอยตุง (DoiTung) ในผลงานที่มีชื่อว่า “เสื้อโค้ทม้ง” HMONG: Coat [100% Upcycling plastic] Handwoven Textile ซึ่งเเรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากสภาพภูมิอากาศบนดอยตุงที่มีความหนาวเย็นและฝนตกชุก โดยนำกลิ่นอายของเครื่องแต่งกายชนเผ่าม้ง มาประยุกต์กับวัสดุที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมเเละสิ่งเเวดล้อม ซึ่งเสื้อโค้ทหนึ่งตัวทำมาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกขนาด 600 มิลลิลิตร 130 ใบ สู่ผลิตภัณฑ์เสื้อโค้ทที่สวมใส่ได้ 2 ด้าน 2 สไตล์ มีคุณสมบัติกันหนาว สะท้อนหยดน้ำและระบายอากาศได้อย่างดี เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์ สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

“ดอยตุง” รับ G Green รางวัลแห่งความภูมิใจ สร้างคนอยู่กับป่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน

“ดอยตุง” ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการผลิตสินค้าหัตถกรรมจากชุมชน แต่ยังใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งงานผ้าฝ้ายทอมือผสมผสานด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเซรามิกที่รังสรรค์ก้อนดินให้กลายเป็นเครื่องใช้สุดประณีต กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เลือกและพิจารณามอบโล่รางวัลสัญลักษณ์ G Green Production ประเภทเซรามิก ระดับดีเยี่ยม และประเภทสิ่งทอ ระดับดีเยี่ยม เพื่อรับรองว่าดอยตุงมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จากการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานสร้างโอกาส พัฒนาชาวไทยภูเขาที่ขาดต้นทุนชีวิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพด้วยการพัฒนาป่าและคน โดยมีโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) ตามพระราชดำริ เป็นต้นแบบภายใต้แบรนด์ “ดอยตุง” ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามตำราแม่ฟ้าหลวง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตามแนวคิดคนอยู่กับป่าอย่างเป็นมิตร

โดยการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แทรกอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิตนี้ เป็นที่มาของรางวัล G Green Production เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงงานทอผ้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ดอยตุง ที่ใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบที่เลือกใช้ในงานทอเป็นเส้นใยฝ้ายประหยัดน้ำหรือ Better Cotton ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าในการเพาะปลูก และเส้นใยเหล่านี้ถูกนำมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น คราม ดอกทองกวาว หัวหอม กาแฟ หรือฮ่อม และยังให้สีที่แตกต่างกันตามแต่ละฤดูกาล เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ก่อนจะถูกถักทอเป็นผ้าบนกี่แบบดั้งเดิมด้วยฝีมือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนตัดเย็บหากเหลือเศษผ้าจะถูกนำมาแปรรูปใส่ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นของใช้ชิ้นเล็กอย่างพวงกุญแจหรือใช้ประดับตกแต่งลวดลายสินค้าต่อไป แต่ถ้าเศษผ้าเล็กเกินกว่าจะใช้ได้ เศษผ้าและเศษด้ายจะถูกนำไปเผาพร้อมกับกะลาแมคคาเดเมียเพื่อใช้เป็นพลังงานในการต้มน้ำร้อนสำหรับกระบวนการต้ม ฟอก และย้อมผ้าอีกครั้ง ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้ประมาณร้อยละ 50 ส่วนน้ำเสียจากโรงย้อมผ้าก็จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้แนวคิด “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ให้พืชน้ำดูดซับสารพิษและเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ น้ำที่บำบัดแล้วก็ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ต่อไป จึงไม่มีของเหลือใช้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนี้เลย ด้านการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งสินค้าให้ผู้บริโภค จะถูกใส่ลงในถุงซิปล๊อค ห่อกระดาษและถุงกระดาษ ถือเป็นการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ส่วนถุงซิปล๊อคที่ใช้งานแล้วก็จะถูกส่งกลับมายังโรงทอเวียนกลับมาใช้งานอีกครั้ง

หรือแม้แต่กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับโรงงานเซรามิก ก็มีความใส่ใจในทุกขั้นตอนเช่นกัน ตั้งแต่การเลือกดินหลากชนิดมาผสมกัน ปั้นหรือเทลงแบบพิมพ์กลายเป็นภาชนะต่างๆ การอบแห้งและเผาพร้อมชุบเคลือบด้วยหินแร่ เพื่อให้เกิดสีที่แตกต่างกันออกไปเวลาที่เผาในอุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส และถึงแม้เซรามิกจะไม่สามารถรีไซเคิลได้แบบวัสดุอื่นๆ ทางดอยตุงได้หาวิธีนำชิ้นส่วนเหล่านี้ไปบดเป็นผง ผสมดินในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อขึ้นรูปใหม่หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำพื้นถนนเพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรอื่นๆ สำหรับแม่พิมพ์ของสินค้าเซรามิกที่ต้องอบแห้งก่อนการขึ้นรูป ดอยตุงเลือกใช้พลังงานชีวมวลจากเปลือกแมคคาเดเมียมาทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม โดยใช้เปลือกแมคคาเดเมียมาต้มน้ำร้อน และส่งความร้อนต่อไปที่อากาศแทน นอกจากนี้ยังมีการเผาอากาศด้วยก๊าซหุงต้มแบบเดิม จากการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน วิธีนี้ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้เกือบทั้งหมด ซึ่งการช่วยกันคิดค้นหาทางออกใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงไอเดียของผู้บริหารและนักออกแบบเท่านั้น แต่การคิดค้นในหลายๆ ครั้งยังเกิดจากชาวบ้านที่ปฏิบัติงานและเล็งเห็นปัญหาด้วย

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมมาพร้อมกับขั้นตอนมากมายที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และแบรนด์ดอยตุง จึงกำลังพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของความไม่สะดวกสบายทั้งหลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านแฮชแท็ก #InconvenientIsneccessary  ..ติดตามอัปเดตเรื่องราวงานพัฒนาคนและธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ที่ www.maefahluang.org 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : Tel : 02-252-7114 # 332

  • จริญญา อัครภาณุวิทยา (จอย)    โทร. 081-822-9596        E-mail : jarinya@doitung.org
  • ศิริพร ทวีธนวาณิชย์ (ก้อย)        โทร. 086-375-5852        E-mail : siriporn@doitung.org

ครบรอบ 25 ปี วันสวรรคต “สมเด็จย่า” มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัดพิธีถวายขันดอก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ “แม่ฟ้าหลวง”

เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปี แห่งการสวรรคตของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ในปี 2563 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย จัดพิธีบำเพ็ญกุศลและพิธีถวายขันดอกแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นการถวายความเคารพอย่างสูงสุดตามประเพณีล้านนาเชียงราย โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนชาวไทย ร่วมกันถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จย่า โดยมีการจัดเตรียมมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมาตรฐานของภาครัฐอย่างเข้มงวด ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563

ภายในงานเริ่มด้วยพิธีบำเพ็ญกุศลน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศาลาแก้ว ภายในอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จากนั้นคณะกรรมการและผู้บริหารมูลนิธิฯ นำโดย ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม, หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล และ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำข้าราชการและประชาชน พร้อมใจกันจัดขบวนตุงและขันดอกอันเป็นพุ่มดอกไม้เครื่องสักการะแบบล้านนา ไปร่วมกันถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงสมเด็จย่า ณ ลานหน้าพระรูปปั้นสำริดของพระองค์

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า แม้ว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า จะเสด็จสวรรคตนานกว่า 25 ปีแล้วก็ตาม พระราชดำรัสของพระองค์ยังคงเป็นความจริงที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตทุกยุคสมัย โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องปรับตัวและหันมาใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อดำเนินชีวิตในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตมนุษย์ทั่วโลกแบบไม่มีใครได้ทันตั้งตัว ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวแบบกะทันหัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เองก็ต้องปรับตัวให้ตอบรับต่อความปกติใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากว่าเจอพายุอีกครั้ง แม้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะปรับแนวทางการดำเนินงานขององค์กรให้สอดรับกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากขึ้น แต่ยังคงยึดแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของสมเด็จย่าเป็นเข็มทิศในการทำงานพัฒนาและธุรกิจเพื่อสังคมเช่นเดิม

ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา นอกจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่างๆ ในหลายพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว เรายังทำหน้าที่เผยแพร่คำสอนของสมเด็จย่าเพื่อเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

โดยในปี 2563 นี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตครบ 25 ปี คนไทยรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปีอาจจะจดจำเรื่องราวของพระองค์ได้ไม่มากนัก หรือไม่ทันได้ชื่นชมพระบารมี บางคนอาจจะเคยได้ยิน ได้ฟังพระราชดำรัสและพระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายของสมเด็จย่ามาบ้าง ซึ่งทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนหลักของ “ความจริง” ที่จับต้องได้ เป็นประโยชน์และร่วมสมัย อย่างเช่นพระราชดำรัสที่สมเด็จย่าทรงเคยรับสั่งไว้และสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเป็นอย่างมาก คือ

‘คนเราทุกคนต้องปรับตัว ถ้าปรับก็ไม่มีเรื่อง ฉันเองก็ต้องปรับตัว’

เป็นอีกหนึ่งคำสอนสำคัญที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตในขณะนี้ได้”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) และทรงเป็นสมเด็จพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงงานอย่างทุ่มเทเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ห่างไกล พระองค์ทรงตระหนักดีถึงความยากลำบาก การขาดโอกาสในชีวิต รวมถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจึงมีบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้าไปร่วมตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยด้วย และทรงนำเครื่องนุ่งห่ม อาหาร สิ่งของที่จำเป็น และของเล่นสำหรับเด็กเข้าไปพระราชทานให้แก่คนในพื้นที่ ในสายตาของชาวไทยภูเขา พระองค์เปรียบเสมือนเสด็จมาจากฟากฟ้าเพื่อปัดเป่าความทุกข์ยาก เขาเหล่านั้นจึงถวายพระสมัญญา “แม่ฟ้าหลวง” สะท้อนถึงความเคารพรักบูชาจากหัวใจชาวไทยภูเขาทุกคน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงงานอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนที่ยากไร้และชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จวบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 พระชนมายุ 95 พรรษา

สานต่อพระราชปณิธาน “สมเด็จย่า” ม่วนขนาด เปิด “กาดศิลป์” Art and Craft Market ตลาดนัดติดดิน อนุรักษ์งานศิลป์ สไตล์ล้านนา – ร่วมสมัย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกคน” ของสมเด็จย่า เปิด อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ชวนคนรักงานศิลป์เสพกลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนาและศิลปะหลากแขนง จัดงานเปิด “กาดศิลป์” Art and Craft Market ตลาดนัดสินค้าหัตถกรรมและกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะครั้งแรกโดยมีคนในชุมชนสถาบันการศึกษา และชาวดอยตุง มาปล่อยฝีมือโชว์งานศิลปะ งานคราฟต์ทำมือ และอาหารหลากเมนู เพื่อรักษามรดกด้านศิลปวัฒนธรรม และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ โดยจัดขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 7 – วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16:00 – 21:00 น. ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย   

โดยภายในงาน คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา  กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ  ท่ามกลางศิลปินชื่อดังเมืองเชียงราย อาทิ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ  ศิลปินเซรามิคดอยดินแดง  รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ อิษฏ์วรพันธ์  มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มาร่วมสัมมนาเรื่อง “ข้อคิดเห็นการสร้างสรรค์ให้เมืองเชียงรายเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริง” กระตุ้นคนรุ่นใหม่ใส่ใจ สืบสานศิลปวัฒนธรรมบ้านเกิด พร้อมทั้งให้ข้อคิดถึงคนในท้องถิ่นด้วยว่า

“สิ่งที่สมเด็จย่า ทรงทำไว้ให้ลูกหลานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของป่า คน อาชีพ และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ เราต้องช่วยกันสานต่อ ไม่ท้อถอย ถ้าเราช่วยกัน เชียงรายจะเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริงได้แน่นอน”  

นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย อาทิ คุณภาษเดช หงส์ลดารมภ์  รองผู้ราชการจังหวัดเชียงราย จุฬาสินี โรจนคุณกำจร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา และผู้บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ท่ามกลางการแสดงโชว์ตีกลองปูจา และการแสดงฟ้อนขบวนแห่ขันดอกล้านนา ตลอดจนการแสดงที่สร้างสีสันให้กาดศิลป์ จากศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียง ชาวบ้านชนเผ่าจากหมู่บ้านต่างๆ อาทิ บ้านขาแหย่งพัฒนา บ้านห้วยน้ำขุ่น บ้านจะลอ บ้านป่าซางนาเงิน และศิลปินรุ่นเล็กจากสถาบันการศึกษาในเชียงราย อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียนสถานสงเคราะห์แม่จัน อาทิ การแสดงลัวะเริงไพร การแสดงดนตรีโฟล์คซอง การแสดงหิมวันต์ รัญจวน ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง และ การสาธิตงานเวิร์คช็อปต่างๆ อาทิ ปั้นและเพ้นท์เซรามิค ถักร้อยกุญแจ จัดสวนถาด การทำกระเป๋าที่จากพลาสติก โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และ การสาธิตการทำเครื่องเงิน งานแกะสลัก ทำเครื่องสักการะล้านนา นิทรรศการภาพเขียนงานวิจิตรศิลป์ โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจากสถานศึกษาในเชียงราย พร้อมด้วยซุ้มอาหารชนเผ่าและอาหารหลากเมนูรสเด็ดลำแต้ๆ อย่าง หมาล่ารสเด็ด หมี่กรอบทรงเครื่อง..ใส่ส้มซ่ากินแล้วสดชื่นไม่เหมือนใคร น้ำอะโวคาโด้รสนุ่มละมุนลิ้น เป็นต้น

พร้อมด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งแบบล้านนาและแบบร่วมสมัยให้ชมมากมาย พร้อมนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ “สมเด็จย่า” ผู้ทรงก่อตั้งสำนักงานของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงสร้างอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงขึ้น  การจัดแสดงศิลปวัตถุและไม้แกะสลักสไตล์ล้านนาที่มีประวัติยาวนานหาชมได้ยาก ซึ่ง อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ได้รวบรวมและเก็บรักษาไว้เพื่อสืบทอดและส่งต่อวัฒนธรรมอันล้ำค่า นำมาให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามที่มีเรื่องราวน่าสนใจและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอย่างใกล้ชิด อาทิ

กลองปูจา หรือ กลองบูชา เป็นกลองโบราณที่ใช้ตีเพื่อส่งสัญญาณในการโจมตีศัตรูของกองทัพในเวลาสงครามถือเป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ ตลอดจนใช้ตีส่งสัญญาณบอกข่าวแก่ชุมชน และใช้เป็นเครื่องดนตรีมหรสพ

ตุงกระด้าง ตุง ในภาษาถิ่นล้านนา หมายถึง ธง ในภาษาไทยภาคกลาง ตุง เป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุต่างๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น ตุงกระด้าง คือ ตุงที่ทำขึ้นจากวัสดุที่ค่อนข้างจะคงทนและสามารถคงรูปอยู่ได้นาน อาทิ ไม้แกะสลัก ปูนปั้นบ้าง หรือโลหะ

สัตภัณฑ์ แท่นเชิงเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัย ในโบสถ์ วิหาร ของดินแดนล้านนา สัตภัณฑ์ มาจากคำว่า สัตบริภัณฑ์ หมายถึงภูเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ มีลักษณะเป็นแผ่นไม้สลักลาย ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือครึ่งวงกลมตั้งอยู่บนตั่ง แผ่นไม้นี้จะมีหลักสำหรับเสียบเทียน โผล่พ้นขอบบน 7 อัน ซึ่งหมายถึงภูเขาทั้ง 7 ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ ถือเป็น ศิลปวัตถุ ที่บ่งบอกประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนศรัทธาความเชื่อของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี

มาร่วมสัมผัสและค้นหาความหมายศิลปวัตถุสไตล์ล้านนา ตลอดจนงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายแขนงได้ใน งาน “กาดศิลป์” จัดขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 7 – วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16:00 – 21:00 น. ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 053-716605-7 หรือ 081-289-6376 งานนี้ เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : Tel : 02-252-7114 # 332

  • จริญญา อัครภาณุวิทยา (จอย)      โทร. 081-822-9596          E-mail : jarinya@doitung.org
  • ศิริพร ทวีธนวาณิชย์ (ก้อย)           โทร. 086-375-5852          E-mail : siriporn@doitung.org

การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทางเลือก ปี 2562 (Expert Group Meeting on Alternative Development – EGM)

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม EGM 2562 ร่วมกับรัฐบาลไทย เยอรมนี เปรู และ UNODC ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2562 ที่จังหวัดเชียงราย โดยการประชุม EGM จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา มุ่งหวังให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทางเลือกมีเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อผลักดันประเด็นสำคัญต่างๆ เข้าสู่เวทีระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (Commission on Narcotic Drugs – CND) การประชุม EGM 2562 มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 58 คน ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาลจาก 14 ประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยการประชุมแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

  1. การศึกษาดูงานพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งเป็นต้นแบบโครงการพัฒนาทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และปัจจุบันได้ยกระดับการพัฒนาไปอีกขั้น เช่น สร้างศักยภาพชาวบ้านให้สามารถเป็นผู้ประกอบการและสร้างธุรกิจของตนเอง สร้างเสริมวัฒนธรรมแห่งการรักษากติกาในชุมชน และขับเคลื่อนธุรกิจดอยตุงด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน 
  2. การประชุมหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาทางเลือก สาระสำคัญจากการประชุมมีดังนี้
    1. การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเลือกไปสู่ความสำเร็จและยั่งยืน โดยต้องอาศัยการมีหุ้นส่วนภาคเอกชนที่เหมาะสม มีวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน อีกทั้งมีการกำหนดบทบาท และรูปแบบการดำเนินงานร่วมกันอย่างชัดเจน
    2. ประเด็นด้านหลักนิติธรรมในเวทีการพัฒนาทางเลือกมักถูกเชื่อมโยงกับการปราบปรามผู้กระทำความผิดด้านยาเสพติดเป็นหลัก ประเทศไทยนำเสนอการเสริมสร้างหลักนิติธรรมด้วยชุมชนเอง โดยโครงการพัฒนาทางเลือกสามารถช่วยสร้างเสริมวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาภายในชุมชน เช่น สนับสนุนให้ชุมชนกำหนดกฎเกณฑ์และร่วมบังคับใช้กฎนั้นควบคู่ไปกับกฎหมายของประเทศ
    3. ปัจจุบัน ปัญหายาเสพติดไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสังคมชนบทที่มีการปลูกพืชเสพติด แต่ยังแพร่ระบาดในพื้นที่เมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากยาเสพติดสังเคราะห์ต่างๆ การใช้หลักพัฒนาและแนวทางปฏิบัติที่ดีของการพัฒนาทางเลือกจึงควรนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในบริบทเมืองด้วย เช่น การยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา รับฟังความต้องการของชุมชน สร้างอาชีพทางเลือกสุจริต จัดการปัญหาความยากจน และดำเนินโครงการในระยะยาว

หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล ร่วมงาน “ครบ 70 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและมหาวิทยาลัยอินเดียน่า”

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่าร่วมงาน “ครบ 70 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและมหาวิทยาลัยอินเดียน่า” ในฐานะศิษย์เก่าผู้ได้รับรางวัล Thomas Hart Benton Mural Medallion เมื่อปี 2559 ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยอินเดียน่า 

นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ยังได้รับเชิญจาก Kelley School มหาวิทยาลัยอินเดียน่า กล่าวปาฐกถาเพื่อย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและศิษย์เก่า ซึ่งจะเป็นพลังที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกนี้ได้อย่างแท้จริง ดังเช่นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ Kelley School  หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา กล่าวว่า

“ณ ตอนนี้ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า โดยเฉพาะ Kelley School เป็นพันธมิตรทางวิชาการที่สำคัญของเรา เราเปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาโทได้เรียนรู้เรื่องโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทั้งภาคการศึกษา และต้องเดินทางมาเรียนรู้ที่ดอยตุงด้วย เพื่อปรับคำแนะนำเชิงธุรกิจของเขาให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและเป็นไปได้จริง”

ลงนาม MOU นำเทคโนโลยีอวกาศพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ในพิธีเปิดงาน “Thailand Space Week 2019” มหกรรมอวกาศระดับนานาชาติ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อการวางแผนพัฒนาพื้นที่ด้วยศาสตร์พระราชาบนฐานความยั่งยืน (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ ด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และวางแผนบริหารการจัดการชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยศาสตร์พระราชา

“Thai Textile: A Touch of Thai” งานแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านแนวคิด “ผ้าไทยสู่สากล” ณ ประเทศญี่ปุ่น

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คัดสรรผลิตภัณฑ์แฟชั่นชิ้นพิเศษจากแบรนด์ดอยตุง ที่ผสานงานฝีมือประณีตเข้ากับแนวคิดรักษ์โลกด้วยนวัตกรรมการผลิตสิ่งทอจากขยะเหลือใช้ แสดงในงาน “Thai Textile: A Touch of Thai” ภายใต้ “โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ” เส้นทางประเทศญี่ปุ่น จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เผยแพร่พระราชกรณีกิจด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมผ้าไทย ด้วยแนวคิด “ผ้าไทยสู่สากล” โดยมีบุคคลสำคัญของไทยและญี่ปุ่นร่วมงานคับคั่ง ระหว่างวันที่ 19 – 26 สิงหาคม 2562 ณ ประเทศญี่ปุ่น 

โดยจัดแสดงคอลเล็กชัน “MAWATA – HILLTRIBE Bumble Jacket” และ “OVERSIZE – HILLTRIBE Bag” ที่ได้รับรางวัล DEmark Award Winner 2019 และคอลเล็กชัน “Mae Fah Luang Autumn/Winter 2018-2019” ที่เคยจัดแสดงในงาน Milan Design Week 2019 ก่อนวางจำหน่ายต่อที่ La Rinascente ห้างสรรพสินค้าระดับโลก ณ กรุงมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี

สัมมนาวิชาการ “การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับเด็กที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่”

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 3 และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จัดงาน สัมมนาวิชาการระหว่างวันที่ 8 -9 สิงหาคม 2562 ณ หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในหัวข้อ “การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับเด็กที่ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่” ของโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และโรงเรียนขยายผลการพัฒนาทั้งสิ้น 39 โรงเรียน รวมถึงสาธิตการสอนระหว่างครูผู้สอนในจังหวัดเชียงราย กับครูผู้สอนในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มีบริบทใกล้เคียงกัน โดยภายในงานมีผู้บริหารสถาบันการศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ จากจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมกว่า 600 คน  

ปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านการพัฒนาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กลายเป็นต้นแบบที่ได้รับการยอมรับและเผยแพร่ในวงกว้าง โดยมีหลักการสำคัญคือ การปลูกคน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน  และคนรุ่นใหม่คือกำลังที่สำคัญที่สุด โดยการดำเนินงานด้านพัฒนาการศึกษานั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ตระหนักถึงประเด็นการใช้ภาษาไทยของเด็กในพื้นที่ซึ่งส่วนมากไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องอย่างต่อเนื่องจริงจัง และได้พัฒนาผ่านโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ 8 โรงเรียนตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา