admin
โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พื้นที่ปฏิบัติงาน FTP 33 “ปลูกป่า ปลูกคน คนไม่หิว ป่าไม่หาย”
ข้อมูลพื้นฐาน
ภาพรวมโครงการ
โครงการปลูกป่าในพื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาเรื่องความยากจนและยาเสพติดแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดสำคัญที่ว่า ‘ปลูกป่า ปลูกคน’ ด้วยโมเดลการ ‘ปลูกป่าแบบปลูกเสริม’ ที่เน้นฟื้นฟูป่าโดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นมาปลูกเพิ่มเข้าไปในพื้นที่เดิม จึงไม่ต้องถางป่าเพื่อลงกล้าใหม่แบบในอดีต และยังมีการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ เมื่อชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน พวกเขาก็ไม่คิดกลับไปทำลายป่าอีกเลย

โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ “พัฒนาพืชมูลค่าสูง สร้างรายได้ที่มั่นคง ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน”
ข้อมูลพื้นฐาน
ภาพรวมโครงการ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ศึกษาและทดลองปลูกชาน้ำมัน ในพื้นที่หมู่บ้านปางมะหันและหมู่บ้านปูนะ อำเภอแม่ฟ้าหลวง โดยให้ชาวบ้านในชุมชนเป็นผู้ดูแล เพื่อวางรากฐานการประกอบอาชีพที่มั่นคงในระยะยาว ควบคู่ไปกับการรักษาระบบนิเวศป่าไม้ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเน้นการ ‘ปลูกป่าแบบไม่ปลูก’ ให้ป่าฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ด้วยตัวเอง ทั้งยังมีการพัฒนาระบบน้ำ ส่งเสริมการเกษตรและปศุสัตว์พื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

โครงการกล้า..ดี : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน “สร้างต้นทุนเพื่อฝ่าฟันวิกฤต ด้วยวิถีพอเพียง”
ข้อมูลพื้นฐาน
ภาพรวมโครงการ
ในปี 2554 ที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ ความเดือดร้อนกระจายไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางรวม 13 จังหวัด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยด้วยการมอบปัจจัยดำรงชีพ ได้แก่ เครื่องปรุงของแห้งพร้อมกิน ต้นกล้าผักสวนครัวโตไวพร้อมปลูกที่สามารถเก็บผลผลิตกินได้ภายใน 2-3 วัน และเมล็ดพันธุ์พร้อมเพาะ เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัยสามารถนำไปสร้างรายได้ด้วยตัวเองตามวิถีพอเพียง เป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่คิดนอกกรอบไปไกลกว่าการสนับสนุนปัจจัยดำรงชีพเฉพาะหน้า

โครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จังหวัดน่าน
ข้อมูลพื้นฐาน
ภาพรวมโครงการ
โครงการนี้เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งดำเนินการในปี 2552-2554 โดยหลังจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และหน่วยงานพันธมิตรสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและปากท้องสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว งานต่อมาก็คือการส่งเสริมให้ชุมชนฟื้นฟูป่าและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างสมดุล เพื่อให้คนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และกลายเป็นต้นแบบระดับประเทศในการจัดการพื้นที่ป่าไม้ภาคเหนือ โดยมีการแบ่งพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อรักษาต้นน้ำและทุนทางธรรมชาติ ปลูกป่าเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ ปลูกป่าใช้สอยเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เมื่อชาวบ้านเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของป่า พวกเขาก็ใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยคำนึงถึงความยั่งยืนและช่วยกันดูแลผืนป่าอย่างแข็งขัน

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ตามแนวพระราชดำริ “บูรณาการ ความร่วมมือ พัฒนาเชิงพื้นที่ วางรากฐานสู่การรักษาป่าต้นน้ำ”
ข้อมูลพื้นฐาน
ภาพรวมโครงการ
เดิมทีพื้นที่กว่า 250,000 ไร่บริเวณต้นน้ำน่านประสบปัญหาป่าเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริดำเนินโครงการต้นแบบในจังหวัดน่าน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการบุกรุกป่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมี และภัยธรรมชาติ โดยกลไกสำคัญที่ใช้แก้ปัญหาคือการปรับปรุงคุณภาพดินและขุดนาขั้นบันได เพื่อทำให้ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมาและเพิ่มผลผลิตให้แก่ชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน

โครงการสำรวจข้อมูลผู้หนีภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพหนีภัยต่างๆ
ข้อมูลพื้นฐาน
ภาพรวมโครงการ
ปี 2556 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับการทาบทามจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้สำรวจข้อมูลผู้หนีภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาทั้ง 9 ศูนย์ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และแผนในอนาคตของผู้หนีภัย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเรื่องการเตรียมการสำหรับผู้หนีภัยเสนอต่อรัฐบาลไทยและเมียนมา UNHCR และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังมีส่วนร่วมดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมทักษะและเตรียมความพร้อมให้ผู้หนีภัยสามารถกลับไปตั้งถิ่นฐานในบ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน
