“โครงการคลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติฯ” ประจำปี 2562

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” “จังหวัดยะลา” และ “สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา” ให้บริการตรวจสุขภาพ รักษาและให้ความรู้เรื่องสุขภาพปากและฟันแก่ประชาชนในพื้นที่ฟรีระหว่างวันที่ 10 – 11 กรกฎาคม 2562 ณ โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร มิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นการจัดโครงการฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2562 โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเหล่าทันตแพทย์อาสามาให้บริการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รวมถึงให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพปากและฟัน มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน 2,689 คน

การประชุมเวทีระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development – HLPF) ครั้งที่ 7

เมื่อวันที่ 9-15 กรกฎาคม 2562 หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมเป็นองค์ปาฐกในการประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “Regional contributions to empower people and promote equality: experiences, lessons learnt and way forward” ในการประชุม HLPF ซึ่งเป็นการประชุมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ จัดขึ้น ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บอกเล่าประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร และการวางนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เข้มข้นขึ้นในอนาคต มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 70 คน

การประชุมวิชาการสารเสพติดระดับชาติ ครั้งที่ 11 : สภาวการณ์นานาชาติที่มีผลต่อการใช้สารเสพติด (International Influences on Drug Abuse)

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นวิทยากรพิเศษในหัวข้อ “อนาคตของการพัฒนาทางเลือก” ในการประชุมวิชาการสารเสพติดระดับชาติ ครั้งที่ 11 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาคี เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาด การป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งจุดประกายความคิดให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้จริง ตลอดจนพัฒนาศักยภาพให้แก่นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานด้านสารเสพติดอย่างต่อเนื่อง

ปัญหายาเสพติดในวันนี้ได้วิวัฒนาการจากพืชเสพติดไปสู่สารเสพติดสังเคราะห์ ข้อมูลสถานการณ์โลกจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า ปัญหาการปลูกพืชเสพติดในภูมิภาคของเราลดลง แต่ปัญหาสารเสพติดสังเคราะห์เพิ่มสูงขึ้น โดยในประเทศไทยมีการนำเข้ายาบ้าและยาไอซ์ 26% จากประเทศในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้รัฐบาลไทยเสียงบประมาณในการแก้ไขปัญหายาเสพติดสูงถึง 166,722 ล้านบาท

ส่วนใหญ่แล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในปัจจุบันจะดำเนินไปในแนวการป้องกันและปราบปรามซึ่งเป็นเชิงยุทธการ แต่ “การพัฒนาทางเลือก” จะมองต่างออกไป คือ เห็นว่าคนที่หลงเข้าไปอยู่ในวงจรของการค้ายาเสพติด ยอมทำผิดกฎหมาย เป็นเพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาสในชีวิต ดังนั้น หากยังคงยากจน และยังสังคมยังไม่เปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่อาจจะแก้ไขได้ แต่หากช่วยให้คนในพื้นที่ต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน   

การที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มุ่งมั่นดำเนินงานด้านการพัฒนาทางเลือกทั้งในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และในพื้นที่โครงการขยายผลอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า “การพัฒนาทางเลือก” นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาการปลูกพืชเสพติดซึ่งเป็นปัญหาในอดีตได้แล้ว ยังสามารถแก้ไขปัญหาสารเสพติด ได้แก่ ยาบ้าและยาไอซ์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันได้อีกด้วย 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจเยี่ยมโครงการร้อยใจรักษ์

ที่หมู่บ้านห้วยส้าน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินงานสนับสนุนมาตรการและนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน  3 ครั้ง ดังนี้  

ครั้งที่ 1 

วันที่ 18 ตุลาคม 2561 ทรงบรรยายผลการดำเนินการโครงการร้อยใจรักษ์ ในรอบ 1 ปี ให้กับหน่วยงานราชการที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ทอดพระเนตรการดำเนินงานของกลุ่มอาสาทำดี หรือกลุ่มอาสาสมัครบำบัดยาเสพติด ณ แปลงสาธิตเกษตรและศูนย์ประสานงานเพื่อความมั่นคงบ้านห้วยส้าน ทรงรับฟังบรรยายเรื่องการดำเนินงานด้านสาธารณสุข และการจัดทำกฎระเบียบชุมชนในพื้นที่โครงการ พร้อมกันนั้นทรงมีพระปฏิสันถารกับชาวบ้านที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ 

ครั้งที่ 2 

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 พระราชทานเงินแด่อาสาทำดีรุ่นที่ 1 ซึ่งผ่านการตรวจสารยาเสพติดและผ่านการฝึกอบรมการทำงานกับโครงการ และทรงร่วมหารือกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขในประเด็นด้านสาธารณสุขและแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ ตลอดจนทรงร่วมกิจกรรมทางการเกษตรต่างๆ กับชาวบ้านในพื้นที่ เช่น การเก็บดอกเก๊กฮวย และการเกี่ยวข้าว ในการนี้ ยังทรงรับฟังการบรรยายเรื่องข้าวนา และทรงร่วมเกี่ยวข้าวพันธุ์หอมมะลิกับชาวบ้านที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ จำนวน 354 คน ตลอดจนทอดพระเนตรสินค้าในตลาดชุมชน ณ กาดหลวงร้อยใจรักษ์อีกด้วย 

ครั้งที่ 3 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 พระราชทานบัตรสมาชิกโครงการร้อยใจรักษ์ให้ผู้แทนหรือผู้นำชุมชนของแต่ละหมู่บ้านในโครงการฯ ทรงรับฟังปัญหา ความต้องการ และความคิดเห็นของชาวบ้านที่มีต่อโครงการฯ พร้อมกันนี้ได้พระราชทานข้อคิดเห็นให้ชาวบ้านที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ รวมถึงทรงนำเสนอแผนงานพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรและปศุสัตว์ของโครงการฯ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่ด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงสอบถามปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของหน่วยงานราชการในพื้นที่ เรื่องผลการบังคับใช้ระเบียบชุมชน และสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงในชุมชนหลักจากการดำเนินงานโครงการร้อยใจรักษ์ การทรงงานอย่างติดตามใกล้ชิดด้วยพระองค์เองเหล่านี้สร้างขวัญและกำลังใจอันดีแก่ชาวบ้าน ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่โครงการฯ ในการทำงานพัฒนาเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไป

กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศให้ “ดอยตุง” เป็น 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของไทย

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยกย่องให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็น 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ต้องไปเยือน เชิดชูเกียรติในการเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม รักษามรดกสำคัญของชาติ  และเป็นพื้นที่ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มคุณค่าให้กับศิลปวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ มีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับสากล

การประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ)

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงและผลักดันหลักการพัฒนาทางเลือกและการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยไปยังเวทีด้านอาชญากรรมและนิติธรรมนอกเหนือจากเวทีด้านยาเสพติด เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ยาเสพติดโลกในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายมิติ

ผู้แทนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้ร่วมกับคณะผู้แทนไทยในการประชุม CCPCJ สมัยที่ 28 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2562 เป็นองค์ปาฐกในการประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “Fostering a Culture of Lawfulness in Support of the 2030 Agenda” จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพชุมชน และการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการรักษากติกา” ซึ่งจะช่วยส่งเสริมหลักนิติธรรมและความยั่งยืนของการแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด

ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่…ผ่านหนังสั้น “ดอยตุง”

วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดงานเปิดตัวภาพยนตร์สั้นของแบรนด์ดอยตุง 5 เรื่องที่สะท้อนแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคม ณ โรงภาพยนตร์ “ควอเทียร์ ซีนีอาร์ต” ชั้น 4  ศูนย์การค้า “ดิ เอ็มควอเทียร์”  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมตระหนักถึงสังคมส่วนรวมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนสร้างความเข้าใจเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ภาพยนตร์สั้นทั้ง 5 เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นมุมมองต่างๆ ของ “ดอยตุง” ตั้งแต่ความสุขของคนที่อยู่ในองค์กร ความทุ่มเทตั้งใจในการทำงาน ความรักในการทำงาน การคว้าโอกาสและสร้างโอกาสที่ได้รับ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะให้เวลาและโอกาสในการพัฒนาคนเพื่อสร้างชิ้นงานที่มีคุณภาพ และสุดท้ายกำไรที่ได้มาคือความสุขที่ได้แบ่งปันออกไปให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน นำเสนอผ่านช่องทาง Youtube DoiTung และ Facebook  : DoiTung Club

แบรนด์ดอยตุงสร้างชื่อบนเวทีแฟชั่นระดับโลก ณ กรุงมิลาน อิตาลี ส่งผลิตภัณฑ์แฟชั่นร่วมแสดงงาน Milan Design Week 2019 และวางจำหน่ายในห้าง La Rinascente

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินงานพัฒนา “ผ้าทอมือไทยร่วมสมัย” วิถีหัตถกรรมชุมชนดอยตุงมากว่า 20 ปี ด้วยหลักคิดที่แตกต่างของงานออกแบบซึ่งรังสรรค์จากวัสดุธรรมชาติ สร้างเอกลักษณ์งานฝีมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม จนเป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นระดับสากล จึงได้รับเชิญจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้นำผลิตภัณฑ์แฟชั่นแบรนด์ดอยตุง คอลเล็กชัน “Mae Fah Luang Autumn/Winter 2018-2019” ร่วมจัดแสดงในงานดีไซน์ระดับโลก Milan Design Week 2019 ระหว่างวันที่ 9 – 14 เมษายน 2562 

จากนั้น แบรนด์ดอยตุงยังได้นำสินค้าแฟชั่นคอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ไปจัดแสดงและจำหน่ายที่ La Rinascente 1 ใน 13 ห้างสรรพสินค้าที่ดีที่สุดของโลก ณ กรุงมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 16 – 29 เมษายน 2562 อีกด้วย 

พิธีเปิด “ฝายน้ำเหมย” ณ เมืองลิน จังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จัดพิธีเปิด “ฝายน้ำเหมย” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้ชาวบ้านและเกษตรกรได้มีน้ำใช้ตลอดปี พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีส่วนราชการ, สำนักงาน ป.ป.ส., ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมงานมากมาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2562 ณ เมืองลิน จังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 

ทั้งนี้การสร้าง “ฝายน้ำเหมย” เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวเมืองลิน โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สนับสนุนองค์ความรู้ คำแนะนำเชิงเทคนิค และวัสดุอุปกรณ์ โดยใช้หลักการพัฒนาแบบ “ศาสตร์พระราชา” มุ่งเน้นการแก้ปัญหาโดยมี “คน” เป็นศูนย์กลาง ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การระบุปัญหา ระบุความต้องการ รวมไปถึงร่วมออกแบบ และดำเนินกิจกรรมพัฒนาด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของ สามารถต่อยอดและขยายผลการพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง แม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดลงก็ตาม จนสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ชาวบ้านเมืองลินประสบมาเป็นระยะเวลาหลายปี และในช่วงน้ำแล้งยังสามารถกักเก็บน้ำให้ชาวบ้านนำไปใช้อุปโภคบริโภค ตลอดจนได้ใช้ในการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มจำนวนรอบปลูกได้มากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้อีกด้วย